อัยการเตรียมออกหมายจับทายาทกระทิงแดง (คลิป)

2017-04-27 15:10:44

อัยการเตรียมออกหมายจับทายาทกระทิงแดง (คลิป)

Advertisement

เรือโท สมนึก เสียงก้อง โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด , นายประยุทธ์ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด/และนายอำนาจ โชติชัย อธิบดีอัยการ สำนักงานต่างประเทศ ร่วมแถลงความคืบหน้าการนัดสั่งฟ้องนาย วรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส ทายาทกระทิงแดง ที่สำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ในวันนี้ หลังเป็นผู้ต้องหาในคดีขับรถหรูชนดาบตำรวจวิเชียร กลั่นประเสริฐ ผู้บังคับหมู่งานปราบปราม สน.ทองหล่อ เสียชีวิต เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2555

โดยเรือโท สมนึก เสียงก้อง โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่าเมื่อวานนี้ (26เม.ย.) เวลา 16.00 น. นายธนิต บัวเขียว ทนายความของผู้ต้องหา ได้รับมอบอำนาจมาขอเลื่อนคดี โดยอ้างว่ามีเหตุเร่งด่วนจัดการธุรกิจที่ต่างประเทศ ซึ่งนายสุทธิ กิตติศุภพร อธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ พิจารณาแล้วว่าไม่อนุญาตให้เลื่อนคดี ซึ่งหลังจากนี้จะรอถึงเวลา 16.00 น. เท่านั้น หากไม่มาพบถือว่ามีเจตนาประวิงคดีและหลบหนี ซึ่งจะมีหนังสือให้พนักงานสอบสวน สน.ทองหล่อ ดำเนินการยื่นต่อศาล เพื่อออกหมายจับผู้ต้องหาทันทีในวันพรุ่งนี้ เพื่อติดตามตัวมาส่งฟ้องต่อศาลให้ทันกำหนดอายุความข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ซึ่งจะหมดอายุความในวันที่ 3 กันยายน ปี 2570

ขณะที่นายอำนาจ โชติชัย (โช-ติ-ชัย)  อธิบดีอัยการ สำนักงานต่างประเทศ ระบุว่า  ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดไว้ชัดเจนว่าหากมีการสั่งฟ้องผู้ต้องหา ต้องจัดการอย่างใดอย่างหนึ่งให้ได้ตัวมาดำเนินคดีและหากอยู่ต่างประเทศก็จะต้องดำเนินการขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน




ซึ่งตามขั้นตอนพนักงานอัยการผู้รับผิดชอบสำนวนต้องแจ้งพนักงานสอบสวนติดตามตัว โดยส่งคำขอไปยังศาลว่าผู้ต้องหามีเจตนาหลบหนีขอศาลออกหมายจับ และเมื่อศาลออกหมายจับแล้วจะต้องติดตามจับให้ก่อนคดีขาดอายุความ และหากผู้ต้องหาอยู่ต่างประเทศ ตำรวจต้องสืบสวนให้ชัดเจนก่อนว่าผู้ต้องหาหลบหนีอยู่ที่ใด และอยู่ในประเทศอังกฤษ ตามที่นำเสนอในข่าวหรือไม่ หากระบุที่อยู่ได้ชัดเจนแล้ว พนักงานสอบสวนจะต้องรวบรวมคำสั่งฟ้องของอัยการ ประกอบการพิจารณาอัตราโทษตามพระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ.2551 ที่ระบุโทษจำคุก ตั้งแต่ 1 ปี ขึ้นไป สามารถเข้าสู่กระบวนการนี้ได้  ยกเว้นเฉพาะความผิดทางการเมืองและทหารเท่านั้น

ส่วนประเทศอังกฤษ มีสนธิสัญญา 2455 ส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับประเทศไทยอยู่แล้ว แต่ต้องพิจารณาเงื่อนไขอื่นอีก อาทิ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ พนักงานสอบสวนจึงต้องส่งเรื่องนี้ให้อัยการสำนักงานต่างประเทศ ส่งเรื่องผ่านกระทรวงการต่างประเทศ  และหากเรื่องถึงประเทศอังกฤษ ทางประเทศอังกฤษ ก็จะมีการพิจารณาอีกว่า คดีนี้ขาดอายุความตามกฎหมายไทยแล้วหรือไม่ และข้อหาที่เกิดขึ้นต้องเป็นความผิดทางอาญามีกำหนดไว้ในประเทศอังกฤษด้วย และจะพิจารณาหมายจับของศาลไทย หากเข้าเงื่อนไขทางประเทศอังกฤษก็จะออกหมายจับและจับกุมทันที



นอกจากนี้ นายอำนาจ ระบุอีกว่า ที่ผ่านมามีการประสานงานส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับประเทศอังกฤษ และในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา มีการส่งเรื่องไปต่อเนื่อง และ ประเทศอังกฤษ ก็เคยขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนเมื่อปี 2555 ในข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย กรณีขับรถชนคนเสียชีวิตที่ประเทศอังกฤษ แล้วหลบหนีมาที่ประเทศไทยเช่นกัน แต่หากประเทศอังกฤษ ปฎิเสธคำขอของไทยด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งก็จะใช้ พระราชบัญญัติความร่วมมือคดีอาญาระหว่างประเทศขอให้ประเทศอังกฤษ เริ่มต้นคดีใหม่โดยดำเนินคดีที่ประเทศอังกฤษได้เช่นกัน ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวสามารถกระทำได้กับทุกประเทศที่มีสนธิสัญญา แต่หากประเทศที่ไม่มีสนธิสัญญาก็จะใช้กฎหมายอื่นอย่างเต็มกำลังในการติดตามตัวผู้ต้องหามาดำเนินคดี

ทั้งนี้ หากนายวรยุทธ มีการขอสัญชาติอังกฤษ ก็จะทำให้เงื่อนไขการส่งตัวยากขึ้น แต่ถ้านายวรยุทธ หลบหนีจนคดีขาดอายุความ กระบวนการตามกฎหมายก็ไม่สามารถดำเนินการใดได้

อย่างไรก็ตาม หากครบกำหนดอายุความยังไม่ได้ตัวผู้ต้องหามา จะถือเป็นความล้มเหลวในกระบวนการยุติธรรมหรือไม่นั้น นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า ไม่ถือเป็นความล้มเหลว เนื่องจากเป็นการร่วมมือกันปฎิบัติหน้าที่ของกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ ไม่ใช่เพียงหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเท่านั้น