เริ่ม 1 มี.ค. นี้ 23 ศาลนำร่องใช้กำไล EM สวมข้อเท้าผู้ต้องหา หรือ จำเลยแทนหลักทรัพย์ประกัน
เมื่อวันที่ 27 ก.พ. ที่ชั้น 12 สำนักงานศาลยุติธรรม นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม และนายประสาร มหาลี้ตระกูล อธิบดีกรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ(เอ็มโอยู)การเชื่อมโยงข้อมูลสารสนเทศโดยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อุปกรณ์ EM มาใช้แทนการวางเงินประกัน กรณีผู้ต้องหาหรือจำเลยยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว ซึ่งมีกำหนดจะเปิดใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์พร้อมระบบที่เกี่ยวข้องวันที่ 1 มี.ค. นี้ เพื่อแก้ไขปัญหาผู้ต้องหาหรือจำเลยหลบหนีในชั้นปล่อยตัวชั่วคราว ปัญหาความยากจนไม่มีเงินประกันตัว ทำให้คนยากจนถูกควบคุมตัวเกือบทุกกรณี และเสียโอกาสได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ทำให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ง่ายขึ้น ลดปัญหาความเหลี่อมล้ำของสังคม และลดปริมาณผู้ต้องขัง หรือผู้ต้องโทษในเรือนจำ โดยขณะนี้สำนักงานศาลยุติธรรมมีศูนย์ควบคุมและติดตามการปล่อยตัวชั่วคราวโดยใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เป็นศูนย์กลางการควบคุม และมีระบบที่พร้อมตรวจสอบหรือจำกัดการเดินทาง ซึ่งเปิดดำเนินการตลอด 24 ชม. เพื่อใช้กับศาลนำร่อง 23 ศาลทั่วประเทศ ได้แก่ ศาลอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญาธนบุรี ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง และศาลตามภูมิภาคต่าง ๆ สำหรับกำไล EM เช่ามาจาก บริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด จำนวน 5,000 เครื่อง ค่าเช่าเครื่องละ 5,000 บาทต่อปี โดยจะจัดส่งไปให้ศาลทั่วประเทศ จำนวน 23 แห่ง นำไปใช้พร้อมกันทั่วประเทศ ใช้งบประมาณ 80.8 ล้านบาทและจะเพิ่มเป็น 10,000 เครื่องให้แก่ศาลต่าง ๆ ในปีที่ 2 พร้อมประเมินผลแบบปีต่อปี
นายกำพล รุ่งรัตน์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำสำนักประธานศาลฎีกา กล่าวว่า สำหรับกำไล EM ติดระบบจีพีเอสไว้มีน้ำหนักเบา 230 กรัม จะถูกสวมที่ข้อเท้าผู้ต้องหาหรือจำเลยตลอดเวลา เพื่อใช้กำหนดพื้นที่การเดินทาง ความเคลื่อนไหว พื้นที่ต้องห้าม สอดส่องพฤติกรรม หากออกนอกพื้น มีการทำลาย เครื่องจะแสดงสัญญาณไปที่ศูนย์ควบคุมฯ มีเจ้าหน้าที่ดูแลตลอด 24 ชม. ซึ่งจะมีการรายงานต่อผู้พิพากษาเวรของแต่ละศาลเพื่อพิจารณาออกหมายจับ