ปี 62 ไทยมีคนแก่มากกว่าเด็ก 3 องค์กรเร่งป้องกันสมองเสื่อม

2018-02-26 17:05:38

ปี 62 ไทยมีคนแก่มากกว่าเด็ก 3 องค์กรเร่งป้องกันสมองเสื่อม

Advertisement

กรมการแพทย์ ร่วมกับสมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม และ สสส. บูรณาการพัฒนาระบบดูแลสุขภาพผู้ป่วย ใช้หลักป้องกัน ส่งเสริม คงสมรรถภาพการทำงานของสมอง ลดภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ ชี้ปี 2562 เป็นครั้งแรกประเทศไทยมีผู้สูงอายุมากกว่าประชากรวัยเด็ก



เมื่อวันที่ 26 ก.พ. นพ.สมศักด์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังเป็นประธานแถลงข่าวมหกรรมสมองเสื่อม ว่า ประเทศไทยได้เข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุตั้งแต่ปี 2548 โดยมีประชากรสูงอายุร้อยละ 10.4 หรือ 7.2 ล้านคน ในปี 2561 ปัจจุบันมีประชากรผู้สูงอายุร้อยละ 17.5 หรือประมาณ 11.6 ล้านคน และในปี 2562จะเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยมีประชากรผู้สูงอายุมากกว่าประชากรวัยเด็ก ในอนาคตอันใกล้ ประชากรผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นอีกมากประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุแบบสมบูรณ์ในอีก 3 ปีข้างหน้า หรือปี 2564 และคาดว่าในปี 2574 ประเทศจะกลายเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด คือมีประชากรผู้สูงอายุ ร้อยละ 28


นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ผู้สูงอายุจะมีความเสื่อมถอยของร่างกาย ความสามารถในการจดจำตลอดจนการรับรู้เสื่อมถอยลง จนสูญเสียความสามารถทางสมองหรือเรียกว่า “สมองเสื่อม”ซึ่งผู้ป่วยจะมีความสามารถทางความจำลดลงและสูญเสียความจำในระยะยาวกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันซึ่งภาวะสมองเสื่อมที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ คือ โรคอัลไซเมอร์ พบได้บ่อยถึงร้อยละ 60-70 ของผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมทั้งหมด จากสถิติดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นของประชากรสูงอายุที่อยู่ในวัยพึ่งพิง กระทรวงสาธารณสุขจึงจัดระบบให้มีผู้ดูแลผู้สูงอายุ และผู้จัดการดูแลผู้สูงอายุเพื่อรองรับผู้สูงอายุกลุ่มติดบ้าน ติดเตียงและผู้ที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง มีการพัฒนาองค์ความรู้จัดทำหลักสูตรอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุเพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทั่วประเทศใช้สำหรับเป็นแนวทางฝึกอบรมอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานโครงการพัฒนาระบบดูแลระยะยาว


นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้กรมการแพทย์ โดยสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ ได้ร่วมกับสมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มูลนิธิสาธารณสุขและผู้สุงอายุไทย พัฒนาระบบการดูแลรักษาผู้ป่วยสูงอายุภาวะสมองเสื่อมครบวงจร โดยดูแลรักษาในรูปแบบเฉพาะเจาะจงกับผู้ป่วยแต่ละราย นำร่องใน 4 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น นครราชสีมา ลพบุรีและสุราษฎร์ธานีซึ่งหากพบว่ามีภาวะสมองเสื่อมจะมีการรักษาต่อเนื่องโดยเน้นเครือข่ายของครอบครัวชุมชนและหน่วยบริการด้านสุขภาพ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ดีขึ้น




ด้าน ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่าในช่วงที่ผ่านมา ภายใต้พันธกิจของ สสส. ได้กระตุ้น สานเสริมพลังในการสร้างเสริมสุขภาพและสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาสุขภาวะร่วมกับชุมชน หน่วยงานและองค์กรต่างๆ ในกลุ่มช่วงวัยต่างๆโดยเฉพาะในวัยผู้สูงอายุซึ่ง สสส. ได้สนับสนุนและดำเนินการร่วมกับภาคีเครือข่าย ในการพัฒนาระบบการคัดกรองและดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อมครบวงจรในพื้นที่นำร่องและจะสนับสนุนขยายผลการดำเนินงานระบบการคัดกรองและดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อมครบวงจรให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมซึ่งถือเป็นหนึ่งในระบบเพื่อรองรับสังคมสูงวัย ทั้งในพื้นที่เครือข่ายของ สสส. และพื้นที่อื่น ๆนอกจากนี้ สสส. ยังได้สนับสนุนการเผยแพร่ และสื่อสารข้อมูล ความรู้ต่าง ๆ เพื่อสร้างความตระหนัก และความเข้าใจในประเด็นอุบัติการณ์ และผลกระทบของภาวะสมองเสื่อมในวัยผู้สูงอายุ ตลอดจนการเตรียมความพร้อม การคัดกรองเพื่อลดภาวะเสี่ยงในการเกิดภาวะสมองเสื่อม

ผศ.พญ.สิรินทร ฉันศิริกาญจน นายกสมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม กล่าวว่า สมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม จดทะเบียนในปี 2543 มีเป้าหมายเพื่อให้ผู้ป่วยสมองเสื่อมและครอบครัว มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สมาคมยินดีมาก ที่เป็นหนึ่งในสามประสาน ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุขโดยกรมการแพทย์ สสส. และ สมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม ในการจัดการให้มีการพัฒนาเรื่องระบบการดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม รวมทั้งการป้องกันในประชากรที่ยังปกติ แลชะลออาการของสมองเสื่อมในรายที่เกิดปัญหาขึ้นแล้ว นอกจากเป็นหน่วยงานที่มีส่วนในการพัฒนาระบบการดูแล สมาคมยังยืนยันที่จะยืนเคียงข้างทุกฝ่ายเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยมีนโยบายสาธารณะเกี่ยวกับผู้ป่วยสมองเสื่อม และในที่สุ เป็นประเทศที่เป็นมิตรกับผู้ป่วยสมองเสื่อม