108 ปัญหาสุขภาพกับหมอรามาฯ : “Shopaholic” โรคเสพติดการช้อปปิ้ง

2018-03-06 14:50:38

108 ปัญหาสุขภาพกับหมอรามาฯ : “Shopaholic” โรคเสพติดการช้อปปิ้ง

Advertisement

เหล่านักช้อปคงต้องเช็คตัวเองกันสักหน่อยแล้วว่าที่จับจ่ายใช้สอยกันอยู่ทุกวันนี้เป็นแค่เรื่องปกติหรือเป็นโรคกันแน่ เมื่อทางการแพทย์เผยว่าการช้อปปิ้งก็กลายเป็นโรคทางจิตได้ถ้าหากว่ามากเกินไป กับชื่อโรคที่เรียกว่า “Shopaholic”



ทำความรู้จักกับโรค “Shopaholic” แม้ว่าโรคนี้จะไม่ได้เป็นโรคที่มีการวินิจฉัยทางการแพทย์อย่างเป็นทางการ แต่จากการสำรวจในต่างประเทศสามารถพบผู้ที่ช้อปปิ้งอย่างเป็นปัญหาได้ร้อยละ 3-30 ผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีความต้องการหรืออยากซื้อของตลอดเวลา มีความรู้สึกดีที่ได้เดินดูของ รู้สึกดีเมื่อได้เปรียบเทียบราคา และรู้สึกดีเมื่อได้ซื้อของ แต่ก็จะรู้สึกดีได้แค่ช่วงเวลาเดียว และจะรู้สึกผิดหลังจากที่ซื้อมาแล้ว เพราะคนที่เป็นโรคนี้มักจับจ่ายเกินความจำเป็น หลายครั้งซื้อมาแล้วไม่ได้ใช้ บางครั้งซื้อซ้ำแล้วซ้ำอีกจนมีของเดิมๆ เต็มไปหมด หรือมีปัญหาอื่นๆ ตามมา เช่น กลายเป็นหนี้สิน ทะเลาะกับคนในครอบครัว บางครั้งซื้อมาแล้วต้องโกหกคนในครอบครัวว่ามีคนให้มา หรือบอกราคาที่ถูกกว่าราคาจริงที่ซื้อ ต้องหลบๆ ซ่อนๆ เวลาซื้อของเหล่านั้น เป็นต้น




กลุ่มคนที่เป็นโรคนี้จะมีตั้งแต่วัยรุ่นขึ้นไป เพราะวัยนี้เป็นวัยที่มีกำลังซื้อในระดับหนึ่ง ส่วนมากผู้หญิงเป็นมากกว่าผู้ชาย แต่ผู้ชายก็มีสิทธิ์เป็นโรคนี้ได้เช่นกัน ซึ่งปัจจุบันพบว่าผู้ป่วยโรค Shopaholic ก็มีเพศชายรวมอยู่ด้วย สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะเสพติดช้อปปิ้งมีหลายปัจจัยด้วยกัน อาจมาจากตัวบุคคล เช่น มีภาวะซึมเศร้า ไม่รู้สึกภาคภูมิใจในตนเอง หรือมีภาวะไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ มีความวิตกกังวล เป็นโรคสมาธิสั้น หุนหันพลันแล่น เป็นต้น นอกจากตัวบุคคลปัจจัยทางสังคมก็ส่งผลให้เป็นโรคนี้ได้ด้วย เช่น ช่องทางออนไลน์ที่เอื้ออำนวยต่อการซื้อได้อย่างง่ายดาย สื่อโฆษณาโดยหากตัวบุคคลได้มองเห็นภาพสิ่งของที่ตัวเองสนใจบ่อยๆ ก็ทำให้ตัดสินใจซื้อในที่สุด ซึ่งปัจจุบันสื่อเหล่านั้นยังเข้าถึงคนได้ง่ายขึ้นด้วย ผ่านช่องทางออนไลน์เช่นกัน นอกจากนี้การให้ค่านิยมกับสิ่งของ-วัตถุก็มีส่วนสนับสนุนการเกิดโรคนี้ได้





วิธีสังเกตตัวเองและคนรอบข้างว่าเข้าข่ายโรคนี้หรือไม่นั้น ให้ดูว่าการจับจ่ายมากเกินความจำเป็นหรือไม่อย่างไร หากสิ่งของเหล่านั้นถูกซื้อมาทั้งที่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ หรือซื้อซ้ำๆ ทั้งที่มีอยู่แล้วหลายชิ้น รวมถึงในรายที่ต้องหลบๆ ซ่อนๆ เวลาซื้อของเข้าบ้าน ซื้อมาแล้วมีปัญหากับคนที่บ้านแต่ก็ยังตัดสินใจซื้อ หรือรู้สึกว่าการซื้อของตนเองเป็นปัญหาอาจเข้าข่ายเป็นโรคได้

ภาวะเสพติดการช้อปปิ้งอาจส่งผลกระทบอื่นๆ เช่น ถ้าหากทะเลาะกับคนในครอบครัว อาจส่งผลให้เกิดการแยกตัวออกจากสังคม เกิดภาวะซึมเศร้า ภาวะวิตกกังวล ฯลฯ ได้ด้วย วิธีการรักษาอาการนี้คือการพูดคุยปรึกษาเพื่อปรับพฤติกรรม ในต่างประเทศมีการจัดกลุ่มบำบัด คือจะเอาคนที่มีภาวะนี้มารวมกลุ่มกันและทำการปรับพฤติกรรมร่วมกัน พูดคุยแลกเปลี่ยนทัศนคติ เพื่อทำการแก้ไข รวมถึงการตระหนักและเท่าทันภาวะอารมณ์-ความคิดที่ทำให้เกิดการซื้ออย่างเป็นปัญหาว่าเป็นอย่างไรจะช่วยให้แก้ไขได้ง่ายขึ้น เช่น ซื้อของเพื่อบำบัดความเหงา บำบัดความเครียด บำบัดความเศร้า เป็นต้น


โดยโรคดังกล่าวเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ หากมีการรักษาที่ถูกต้อง มีการรู้เท่าทันภาวะอารมณ์-ความคิด ที่เป็นเหตุของการจับจ่าย นำไปสู่การจัดการภาวะอารมณ์ที่ดีขึ้น ตัวโรคก็จะดีขึ้นตามลำดับ และสามารถหายขาดได้ในที่สุด สำหรับการใช้ยารักษา จะใช้เมื่อมีโรคอื่นร่วมด้วย เช่น ภาวะซึมเศร้า ภาวะวิตกกังวล เป็นต้น



สุดท้ายนี้ถึงโรคดังกล่าวแม้จะไม่ได้มีการวินิจฉัยเป็นทางการ แต่ก็ส่งผลกระทบต่อทั้งตนเองและคนรอบข้าง ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคมีสาเหตุหลากหลายเช่นเดียวกับโรคทางจิตเวชอื่น ๆ ซึ่งโรคนี้ไม่ได้เกิดจากความตั้งใจ และอาจมีโรคทางจิตเวชอื่นร่วม รวมถึงปัจจัยจากสังคมภายนอกอาจมีส่วนด้วยเช่นกัน ดังนั้นการร่วมมือกันระหว่างผู้ป่วยและคนรอบข้าง เข้าอกเข้าใจผู้ป่วย และร่วมกันพามารักษาจะทำให้ผู้ป่วยเกิดกำลังใจ จนกระทั่งอาจนำไปสู่การรักษาที่ดีขึ้นได้



นพ.คมสันต์ เกียรติรุ่งฤทธิ์
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น


ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ 
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล