ไข้เลือดออกป้องกันได้
อาการไข้เลือดออก
ไข้เลือดออกมีระยะฟักตัว หมายถึงหลังจากโดนยุงลายกัดแล้ว จึงเริ่มมีอาการ โดยประมาณ 4-10 วัน ไข้เลือดออกนี้ ไม่จำเป็นต้องมีเลือดออกเสมอไป ความจริงแล้ว อาการแบ่งออกเป็น 3 ช่วง
ช่วงแรก คือ ช่วงไข้ หรือเรียกภาษาอังกฤษ ว่า Febrile phase มีจะมีอาการปวดหัวโดยเฉพาะรอบกระบอกตา มีไข้ตัวร้อนสูงมาก อาจถึง 39-40 องศาเซลเซียส ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อและข้อ บางรายมีปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน เนื่องจากช่วงนี้ บางครั้งทำให้ไม่สามารถแยกจากโรคอื่น ๆ ได้ ทำให้การวินิจฉัยอาจล่าช้า
ช่วงที่สอง คือ ช่วงที่รุนแรง เรียกภาษาอังกฤษว่า Critical phase มักจำเป็นประมาณวันที่ 3 ถึง 7 หลังจากมีไข้ โดยช่วงนี้อาจจะมีสารน้ำรั่วออกมาจากเส้นเลือดไปยังอวัยวะ เช่น บริเวณตับ ซึ่งอยู่ที่ท้องด้านขวาบน ทำให้ตับบวม และมีอาการปวด อึดอัดแน่นท้องได้ เป็นต้น บางรายอาจเริ่มมีเลือดออกที่อวัยวะต่าง ๆ เช่น ตามไรฟัน ถ่ายเป็นเลือด หรือมีจ้ำเลือดตามตัว บางครั้งในผู้หญิงที่มีประจำเดือน จะสังเกตว่า ประจำเดือนจะมามากและนานกว่าปกติ ช่วงนี้ควรได้รับการติดตามจากบุคลากรทางการแพทย์อย่างใกล้ชิด อาจต้องมีการตรวจร่างกายและเจาะเลือดสม่ำเสมอ
ช่วงสุดท้าย คือ ช่วงที่มีอาการดีขึ้น เรียกว่า recovery phase มักจะมีอาการค่อย ๆ ดีขึ้น เส้นเลือดกลับมาทำงานปกติ อาจจะมีผื่นสาก ๆ เริ่มออกมา แสดงกว่าใกล้จะหายแล้ว โดยที่ผู้ป่วยหลายราย อาจจะไม่มีอาการช่วงที่สองนี้ คือเป็นช่วงแรกและช่วงสุดท้ายเลย
การรักษา
การรักษาหลักของไข้เลือดออกขณะนี้ คือ การให้สารน้ำ หรือน้ำเกลือที่เหมาะสม เพราะเชื้อไข้เลือดออกทำให้เส้นเลือดทำงานผิดปกติทำให้สารน้ำรั่วออกไปที่อวัยวะต่าง ๆ ที่ไปเลี้ยง ดังนั้น จึงต้องมีการเติมน้ำเข้าไป ไม่ว่าจะเป็นการกินผงเกลือแร่โออาร์เอส หรือ การให้น้ำเกลือผ่านทางเส้นเลือดดำ เป็นต้น
การให้ยาบรรเทาอาการ เช่น ไข้ ปวดเมื่อยตามตัวและข้อ เป็นต้น นอกจากนี้ ระหว่างการรักษา จะมีคำแนะนำ ให้งดอาหารดำหรือแดง เพราะทำให้สังเกตยาก เวลาเลือดออกทางอุจจาระว่าเป็นจากอาหาร หรือเป็นจากเลือดที่ออกจริง ๆ
การป้องกัน
การป้องกันหลักคือ อย่าให้ยุงกัด โดยป้องกันตัวเอง ด้วยการทายากันยุง ใส่เสื้อผ้าที่มิดชิด เช่น ใส่แขนยาว ขายาว ถุงเท้า หากมียุงมาก มีนวัตกรรมการเอาสารกันยุงมาเคลือบเสื้อผ้าที่ใส่ในพื้นที่ที่มีการระบาดมาก นอนในมุ้ง มุ้งลวด หรือในที่ปิดหน้าต่าง ๆ ไม่ให้ยุงเข้ากำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง โดยเฉพาะบริเวณน้ำนิ่งและน้ำขัง เช่น โอ่ง ไห ชาม ที่ไม่มีฝาปิด อีกส่วนคือการที่มีการดูแลระบบขยะที่ไม่ดีพอ อาจทำให้มีน้ำขัง เช่น ในถุงพลาสติก กะลามะพร้าวต่าง ๆ เป็นต้น
การฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก ซึ่งตอนนี้มีวัคซีนหลายชนิดมากขึ้น สามารถป้องกันให้ไม่ติดเชื้อ หรือหากติดก็จะลดความรุนแรง หากมีอาการ หรืออาการแสดง ที่สงสัยว่าอาจจะเป็นไข้เลือดออก ให้ติดต่อบุคลากรทางการแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยทันที อย่าลืมว่าไข้เลือดออก อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต แต่สามารถป้องกันและรักษาได้หากดูแลใกล้ชิดอย่างถูกวิธี
อ.พญ. รพีพรรณ รัตนวงศ์นรา มอร์ด
สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล