"พิธา"แสดงสปิริตน้อมรับคำสั่งศาล รธน. ออกจากห้องประชุม ชี้ประชาชนชนะมาแล้วครึ่งทาง เหลืออีกครึ่งทาง แม้จะไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ แต่ขอให้เพื่อนสมาชิกช่วยกันดูแลประชาชนต่อไป
เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 66 ที่รัฐสภา มีการประชุมรัฐสภา เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลที่สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 เป็นการเปิดประชุมพิจารณาเป็นครั้งที่2 โดยมีวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาที่ทำหน้าที่ประธานการประชุม
นายอัครเดช วงศ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ คัดค้านว่า เป็นการทำผิดข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ41คือ ญัตติใดตกไปแล้ว ห้ามนำญัตติที่มีลักษณะเดียวกันกลับมาเสนอซ้ำ หากไม่มีเหตุการณ์เปลี่ยน แปลง เพราะเมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ประชุมรัฐสภาไม่ให้ความเห็นชอบนายพิธาเป็นนายกฯไปแล้ว และยังไม่มีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงไป เพราะ 8พรรคยังเสนอชื่อนายพิธาเป็นนายกฯ ถือว่าญัตติตกไป ไม่สามารถเสนอชื่อนายพิธาได้ สถานะข้อบังคับการประชุมรัฐสภา มีสถานะเทียบเท่าพ.ร.บ.ต้องยึดถือปฏิบัติตาม พร้อมกับเสนอญัตติขอให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาว่า การเสนอชื่อนายพิธาเป็นนายกฯรอบ2 ขัดข้อบังคับการประชุมข้อ 41หรือไม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นที่ประชุมเปิดให้สมาชิกรัฐสภาอภิปรายแสดงความเห็นเรื่อง ญัตติ และข้อบังคับการประชุม ข้อ 41 กันอย่างกว้างขวาง อาทิ นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. กล่าวว่า ตนขอเสนออีกญัตติว่า การเสนอชื่อนายพิธาเป็นนายกฯขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ได้ขัดข้อบังคับการประชุมรัฐสภา แต่นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โต้แย้งให้เดินหน้าประชุมตามวาระในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เพราะวาระประชุมขณะนี้ไม่ใช่เรื่องข้อบังคับข้อ41 แต่เป็นการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี
ด้านนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ กล่าวว่า ตามข้อบังคับการประชุม เมื่อพิจารณาญัตติใดอยู่ ห้ามเสนอญัตติอื่นซ้อนเข้ามา เพราะผิดข้อบังคับการประชุม นายอัครเดชจึงโต้กลับทันทีว่า สิ่งที่นายจุลพันธ์พูดเท่ากับยอมรับการเสนอชื่อนายพิธาเป็นนายกฯเมื่อวันที่ 13ก.ค. เป็นญัตติใช่หรือไม่ จึงไม่ต้องอภิปรายแล้ว เพราะยอมรับว่า การเสนอชื่อนายพิธารอบแรกเป็นญัตติ แต่นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ช่วยโต้แย้งว่า การเสนอชื่อนายพิธาไม่ใช่ญัตติ เป็นข้อพิจารณาให้โหวตเลือกนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ และรัฐธรรมนูญ มาตรา5 ระบุว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด บทบัญญัติใดหรือการกระทำใดที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญจะมาใช้บังคับไม่ได้ ทั้งนี้ทั้งสองฝ่ายอภิปรายถกเถียงกันยาวนานกว่า 3ชั่วโมงยังหาข้อสรุปไม่ได้ การเสนอญัตติของนายอัครเดชถูกต้องตามข้อบังคับการประชุมหรือไม่ ขณะที่นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขณะนี้มีปัญหาเรื่องการใช้ข้อบังคับการประชุม ประธานต้องวินิจฉัย ถ้าประธานไม่วินิจฉัย ก็ต้องให้ที่ประชุมรัฐสภาลงมติ โดยยึดข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ151ที่ระบุว่า ถ้ามีปัญหาต้องตีความ ให้ที่ประชุมรัฐสภาลงมติวินิจฉัย โดยใช้เสียงไม่ต่ำกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา หรือ375คน ให้ความเห็นชอบ
ในที่สุดนายวันมูหะมัดนอร์ ประธานในที่ประชุม จึงสรุปว่า อภิปรายมาเกือบ 3 ชม. ยังไม่ได้ข้อยุติ หลังจากฟังทุกฝ่ายแล้ว ขอให้ที่ประชุมลงมติชี้ขาด ตามข้อบังคับการประชุม ข้อ151 ที่ระบุว่า ถ้ามีปัญหาตีความข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ให้เป็นอำนาจของที่ประชุมรัฐสภาวินิจฉัยด้วยคะแนนไม่ต่ำกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้ง 2 สภา จึงขอให้ที่ประชุมวินิจฉัยว่า ญัตติของนายอัครเดช วงศ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ ถูกต้องตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภาหรือไม่ แต่บรรยากาศที่ประชุมก็ยังวุ่นวายไม่จบ เพราะสมาชิกยังมีข้อถกเถียงกันต่อไปว่า การลงมติโหวตจะต้องยึดตามหลักเสียงข้างมาก หรือยึดข้อบังคับประชุมรัฐสภาข้อ 151 ที่ต้องใช้เสียงกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภาที่มีอยู่ คือ 375เสียงขึ้นไป โดยฝั่งพรรคก้าวไกลระบุว่า ต้องใช้เสียงกึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้ง 2สภา แต่ฝ่าย ส.ว.และส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลเดิม ต้องการใช้เสียงข้างมากลงมติ
ผู้สื่อข่าวรายงาน ระหว่างนั้น นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว. อภิปรายแทรกว่า ก่อนจะดำเนินการอะไรต่อไป ขอแจ้งให้ประธานทราบว่า ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ยุติการปฏิบัติหน้าที่ด้วยคะแนน 7-2 เมื่อศาลมีมติเช่นนี้ ขอได้โปรดพิจารณาเรื่องนี้ ทำให้นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ประท้วงแทรกเข้ามาทันที แต่นายพรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา ที่ทำหน้าที่ประธานการประชุม ไม่ให้นายวิโรจน์ประท้วง ขอให้รอนายกิตติศักดิ์ พูดจบก่อน โดยนายกิตติศักดิ์ตอบโต้สวนไปว่า “ผมมีศักดิ์และสิทธิจะอภิปรายได้ อย่าใจร้อน” แต่นายวิโรจน์ก็โต้กลับทันทีว่า “ตามระเบียบราชาการให้รอหนังสือทางการ ไม่ต้องกระเหี้ยนกระหือรีบเข้าวัดที่พิจิตรมากขนาดนั้น ต่อให้อยากเข้าวัดก็เข้าไม่ได้”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนที่นายกิตติศักดิ์จะลุกขึ้นมาอภิปราย เมื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ซึ่งนั่งอยู่ในห้องประชุม เมื่อทราบข่าว ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว จึงได้เดินออกจากห้องประชุมทางด้านหลังห้อง พร้อมกับโบกมือและชูบัตรส.ส.โชว์ไปยังทางด้านหน้าห้องประชุม ก่อนเดินออกจากห้องประชุมไป อย่างไรก็ตามนายพิธาเดินออกจากห้องประชุมไปไม่นาน เพราะหลังจากที่นายวิโรจน์และนายกิตติศักดิ์ปะทะคารมกันเสร็จ นายพิธาก็เดินกลับมานั่งประชุมเหมือนเดิมต่อไป
ต่อมาเวลา 15.40 น. นายพิธา ได้ขออนุญาตประธานรัฐสภาลุกขึ้น กล่าวว่า ณ ปัจจุบันมีเอกสารจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ผมให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ขออนุญาตพูดกับท่านประธานว่า น้อมรับทราบคำสั่ง และจะปฏิบัติตามจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยเป็นอย่างอื่น ขอใช้โอกาสนี้ในการอำลาท่านประธานจนกว่าเราจะพบกันใหม่ ขอฝากเพื่อนๆสมาชิกในการใช้รัฐสภาดูแลพี่น้องประชาชน คิดว่าประเทศไทยเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิมแล้วตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค.66 ถ้าเกิดประชาชนชนะมาแล้วครึ่งทาง เหลืออีกครึ่งทาง ถึงแม้ผมจะไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ แต่ขอให้เพื่อนสมาชิกทุกคนช่วยกันดูแลประชาชนต่อไปครับ
ทั้งนี้หลังนายพิธา กล่าวจบ ได้ถอดบัตรประจำตัว ส.ส. ของตัวเองวางลงบนโต๊ะ จับมือกับเพื่อน ส.ส. พร้อมชูกำปั้น ท่ามกลาง ส.ส. พรรคก้าวไกลทั้งหมดที่ลุกขึ้นยืนปรบมือให้ และ ส.ส. พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลที่เข้ามาให้กำลังใจ ก่อนที่นายพิธาจะเดินออกจากห้องประชุม
ด้านนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา กล่าวว่า ขอบคุณคุณพิธามากครับที่ให้ความเคารพกติกา