ลอสแอนเจลิส, 7 ก.ค. (ซินหัว) — เมื่อวันพฤหัสบดี (6 ก.ค.) องค์การนาซา (NASA) ของสหรัฐฯ เปิดเผยว่ากล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ของนาซา ตรวจพบหลุมดำมวลยิ่งยวดที่อยู่ห่างไกลจากโลกมากที่สุดเท่าที่มีการค้นพบ รวมถึงกาแล็กซีจำนวน 11 แห่งที่เคยดำรงอยู่เมื่อครั้งเอกภพมีอายุ 470-675 ล้านปี
หลุมดำดังกล่าวอยู่ในกาแล็กซี เซียร์ส 1019 (CEERS 1019) ซึ่งมีอยู่หลังเกิดปรากฏการณ์บิ๊กแบงเพียงกว่า 570 ล้านปี โดยหลุมดำในกาแล็กซีแห่งนี้มีมวลน้อยกว่าเมื่อเทียบกับหลุมดำอื่นๆ ที่ตรวจพบในเอกภพยุคแรก
นาซาระบุว่าหลุมดำในกาแล็กซี เซียร์ส 1019 คล้ายคลึงกับหลุมดำใจกลางกาแล็กซีทางช้างเผือกที่มีมวลประมาณ 4.6 ล้านเท่าของดวงอาทิตย์ ทว่าไม่สว่างไสวเท่าหลุมดำมวลมหึมาที่พบก่อนหน้านี้
นาซาทิ้งท้ายว่าแม้หลุมดำในกาแล็กซีข้างต้นจะมีขนาดเล็กกว่า แต่กลับมีอยู่มานานมากกว่า ซึ่งทำให้ยากต่อการอธิบายว่ามันก่อตัวขึ้นได้อย่างไรหลังจากเอกภพเริ่มกำเนิดได้ไม่นาน
(ภาพจากองค์การนาซา : บิล เนลสัน ผู้บริหารองค์การนาซา อธิบายภาพแรกที่บันทึกได้จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ ณ ทำเนียบขาว กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมืองหลวงของสหรัฐฯ วันที่ 11 ก.ค. 2022)