"แสวง"ยอมรับตรวจสอบหุ้นสื่อ "พิธา" ซับซ้อน

2023-06-29 13:54:41

"แสวง"ยอมรับตรวจสอบหุ้นสื่อ  "พิธา"  ซับซ้อน

Advertisement

"แสวง"ยอมรับตรวจสอบหุ้นสื่อ  "พิธา"  ซับซ้อน ชี้เป็นอำนาจ คกก.ไต่สวนเชิญเข้าแจงหรือไม่ 

เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 66  ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบคดีหุ้นสื่อของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี  ว่า เรื่องนี้มีความซับซ้อนโดยเฉพาะตัวกฎหมาย เนื่องจากมีพื้นฐานมาจากคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครส.ส แต่เมื่อมาปรับใช้กับเหตุการณ์สามารถดำเนินการได้หลายวิธี โดยเงื่อนไขแรกห้วงเวลาก่อนการเลือกตั้ง ตามกระบวนการจะต้องส่งให้ศาลฎีกาพิจารณา โดยจะเชิญผู้สมัครมาชี้แจงหรือไม่มาชี้แจงก็ได้ ซึ่งมี 37 คดีที่ศาลได้วินิจฉัยแล้ว เงื่อนไขที่ 2 หลังการเลือกตั้ง กรณีที่เห็นว่าผู้สมัครมีคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามจะดำเนินการตามมาตรา 151 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ซึ่งเป็นคดีอาญา ต้องแจ้งผู้ถูกกล่าวหาเข้ามาชี้แจง โดยการดำเนินการจะต้องดูเอกสารหลักฐานอย่างครบถ้วนปราศจากข้อสงสัย แล้วดูเจตนาประกอบด้วย ส่วนเงื่อนไขหลังประกาศรับรองผลการเลือกตั้งวิธีการคือ ตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งกรณีนี้จะเชิญผู้ที่มีลักษณะต้องห้ามการเป็น  ส.ส.มาชี้แจงหรือไม่ก็ได้ หาก  กกต.มีหลักฐานหรือเห็นเป็นความปรากฏ ซึ่งในชั้นนี้ผู้ที่สามารถวินิจฉัยได้คือศาลรัฐธรรมนูญไม่ใช่กกต.

เมื่อถามว่ามีกระแสข่าวว่า กกต.จะเชิญนายพิธา เข้ามาชี้แจงข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร นายแสวง กล่าวว่า ยืนยันว่าเป็นอำนาจของคณะกรรมการสืบสวนไต่สวน ซึ่งยังไม่รายงานรายละเอียดการดำเนินการตรวจสอบให้กกต.พิจารณา จนกว่าจะสืบสวนเสร็จ ระหว่างนี้  กกต.และสำนักงาน กกต. ไม่สามารถเข้าไปก้าวก่ายและแทรกแซงการทำงานของคณะกรรมการสืบสวนได้ อย่างไรก็ตามกรรมการสืบสวนมีกรอบการพิจารณา 20 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 3 ก.ค.หากพิจารณาไม่เสร็จสามารถยื่นขอขยายเวลาดำเนินการอีก 15 วัน ผ่านเลขาธิการกกต. เบื้องต้นยังไม่เห็นว่ามีการยื่นหนังสือขอขยายเวลาเข้ามา

อย่างไรก็ตาม ถ้าดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ซึ่งเป็นการตรวจสอบข้อเท็จจริงจะเชิญหรือไม่เชิญมาก็ได้ หากมีหลักฐานเพียงพอที่จะยื่นศาลรัฐธรรมนูญ แต่สิ่งสำคัญกกต.ต้องเห็นก่อนว่า มีข้อมูลเพียงพอเพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา ซึ่งอาจใช้ข้อมูลจากคณะกรรมการสืบสวนไต่สวนก็ได้ หรืออาจตั้งคณะกรรมการเข้ามาดูเรื่องนี้โดยเฉพาะก็ได้ แต่ให้แยกว่าเป็นการตรวจสอบข้อเท็จจริงไม่ใช่การแจ้งข้อกล่าวหา เบื้องต้นขณะนี้มีผู้มายื่นร้องให้กกต.ดำเนินการตามมาตรา 82 แล้วดังนั้นต้องขึ้นอยู่กับที่ประชุมกกต.ว่าจะใช้วิธีการดำเนินการอย่างไร เพราะเป็นการตรวจสอบข้อเท็จจริงซึ่งจะแตกต่างจากระเบียบสืบสวนไต่สวน ส่วนจะต้องยื่นให้ศาลพิจารณาก่อนการโหวตนายกฯนั้นไม่เกี่ยวกับประเด็นที่กกต.ที่จะต้องมาพิจารณา อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมากกต.ทำทุกอย่างตามกรอบเวลาที่ควรจะเป็นอยู่แล้ว

ต่อข้อถามว่านายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา เข้าหารือเข้ามอบหลักฐานกับกกต.กรณีนายพิธา เมื่อ 28 มิ.ย.ได้มีการพูดคุยในเรื่องนี้อย่างไรบ้าง นายแสวง ว่า ท่านไม่ได้มาตามเรื่องพิธา แต่ท่านพูดเรื่องการเมือง การเลือกตั้งเกิดปัญหาต้องการการสนับสนุนอย่างไรบ้าง และได้นำหลักฐานประกอบคดีหุ้นนายพิธามามอบให้ ซึ่งจากนี้ สำนักงานกกต.ก็จะนำหลักฐานไปประกอบการพิจารณาคดีทั้งกรณีรู้อยู่แล้วว่าไม่มีคุณสมบัติแต่ยังลงสมัครรับเลือกตั้ง ตามมาตรา 151 พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561 และรัฐธรรมนูญมาตรา 82 กรณีสงสัยคุณสมบัติของส.ส.จะต้องมีการเข้าชื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญ

เมื่อถามว่า กรณีของนายพิธา กกต.สามารถดำเนินการกรณี “ความปรากฏต่อกกต.” ได้หรือไม่ นายแสวงกล่าวว่า ไม่ต้องมีความปรากฏเลย โช๊ะเลย แต่ต้องมีหลักฐาน กกต.ไม่ใช่ผู้ตัดสิน โดยก่อนเลือกตั้งจะต้องส่งให้ศาลฎีกา ถ้าไม่ได้รับการเลือกตั้งก็อยู่ในชั้นศาล ส่วนได้รับเลือกตั้งแล้ว ก็ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญ เป็นต้น เหมือนกกต.เป็นคนฟ้องว่าข้อมูลเพียงพอให้ฟ้องหรือไม่ ไม่ต้องเชิญมาให้ข้อมูล ซึ่งก็เหมือนกับกรณีส่งศาลฎีกาพิจารณากรณี 37 ผู้สมัคร ส.ส. นั้นกกต.เห็นแล้วก็ส่งศาลฎีกา โดยไม่ได้เชิญใครมาชี้แจง แต่กรณีดำเนินคดีอาญาตามมาตรา 151 เป็นระเบียบสืบสวนหากมีการกล่าวหาก็ต้องเชิญผู้ถูกกล่าวหามาชี้แจง

นายแสวง ยังกล่าวถึงกรณี ก่อนหน้านี้นายทะเบียนพรรคการเมืองมีความเห็นไม่รับคำร้องยุบพรรคก้าวไกลจากเหตุมีนโยบายหาเสียงแก้ไขหรือยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แต่ศาลรัฐธรรมนูญกลับสั่งอัยการสูงสุดชี้แจงว่า รับหรือไม่รับคำร้องของผู้ที่ยื่นร้องเกี่ยวกับเรื่องนี้ ว่า ในชั้นของกฎหมายพรรค เราจะพิจารณาว่าการกระทำนั้นมีอำนาจให้พรรคกระทำหรือไม่ และกระทำตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ ซึ่งเขียนต่างจากรัฐธรรมนูญ แต่ถ้ามีผู้เห็นว่าการกระทำนั้นใช้สิทธิเสรีภาพ ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ทำให้เป็นการล้มล้างระบบการปกครอง ต้องไปร้องที่ศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ จึงเป็นคนละขั้นตอนกัน และแม้นายทะเบียนพรรคการเมืองจะมีความเห็นไม่รับคำร้องกรณีดังกล่าวไปแล้ว แต่ขณะนี้นายทะเบียนฯ ก็ได้ให้สำนักงานฯ ไปตรวจสอบเพิ่มเติมว่า การกระทำตามคำร้องนั้น ๆ เป็นความผิดฐานไหนอีกหรือไม่ตามกฎหมายพรรค ซึ่งยังบอกไม่ได้ว่าจะเป็นฐานความผิดใดได้อีก ขอตรวจสอบก่อน.