"ปานปรีย์"ซัดรัฐบาลรักษาการไม่ควรจัดประชุมอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ ควรรอรัฐบาลใหม่ กังวลอาเซียนถูกมองว่าแตกแยก
เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.66 ดร.ปานปรีย์ พหิทธานุกร ที่ปรึกษาคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงการต่างประเทศ จัดการประชุมอย่างไม่เป็นทางการระหว่างอาเซียน-เมียนมา ว่า การจัดประชุมดังกล่าวไม่ควรเกิดขึ้น ต้องรอให้รัฐบาลใหม่ที่กำลังจัดตั้ง ได้ดำเนินการนโยบายการต่างประเทศ เพราะ 1.สถานะของรัฐบาลในปัจจุบันเป็นรัฐบาลรักษาการ 2.จัดการประชุมกระทันหันเกินไป ออกหนังสือเชิญประเทศสมาชิกก่อนการจัดประชุมเพียง 5 วันเท่านั้น และหากจำเป็นต้องจัดประชุมไม่เป็นทางการ ต้องมีเหตุการณ์ที่จะกระทบจนเกิดความเสียหายรุนแรงต่อประเทศไทย เช่น มีการรุกล้ำเข้ามาในราชอาณาจักร เกิดสงคราม เกิดปัญหาด้านความมั่นคงที่รุนแรง และกระทบต่ออธิปไตย เป็นต้นพรรคเพื่อไทย มองว่า นโยบายการต่างประเทศรัฐบาลใหม่ จะให้ความสำคัญกับอาเซียน เป็นหลัก เพราะอาเซียนถือเป็นเวทีสำคัญในการแก้ไขปัญหาในระดับภูมิภาค กลุ่มอาเซียนเป็นที่ติดตามของชาวโลก จากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง จีดีพีอาเซียนอยู่ที่ 3.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าในปีนี้จีดีพีอาเซียนจะเติบโต 5% (จากการคาดการณ์ของธนาคารพัฒนาเอเชีย) มีประชากรประมาณ 700 ล้านคน การค้า การลงทุน จะเลี้ยวมาอาเซียน ดังนั้น ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันจึงมีความสำคัญสูงสุด ซึ่งเราจะผลักดันให้ประเทศไทย และอาเซียน ยืนอยู่ในตำแหน่งที่สำคัญและเหมาะสมในเวทีโลก
ดร.ปานปรีย์ กล่าวต่อว่า เป็นที่น่าสังเกตว่า รัฐบาลที่นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นเจ้าภาพจัดประชุมอย่างไม่เป็นทางการระหว่างอาเซียน - เมียนมา มาแล้ว 2 ครั้ง ซึ่งไม่มีความคืบหน้า ครั้งนี้จัดเป็นครั้งที่ 3 อีก จึงถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ โดยในความรู้สึกส่วนตัว ตนมองว่าเป็นเรื่องผิดปกติ เพราะการประชุมข้ามประเทศ ต้องใช้ระยะเวลาในการเตรียมงานนานพอสมควร และต้องมีความมั่นใจในระดับหนึ่งว่าผู้นำระดับสูงของแต่ละประเทศจะตอบรับเข้าร่วมประชุม ซึ่งการทำงานในลักษณะดังกล่าว โดยหลักควรหารือและขอความเห็นจากอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประธานอาเซียนก่อน แต่พบว่า อินโดนีเซีย ปฏิเสธการเข้าประชุม รวมถึงสิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ต่างปฏิเสธที่จะเข้าร่วม เพราะการประชุมจัดขึ้นอย่างกระทันหัน แบบไม่มีปีมีขลุ่ย ทั้งที่ในเวลานี้เราต้องการความเข้มแข็งของอาเซียน เพราะถือเป็นภูมิภาคที่มีความสำคัญของโลก
“การจัดการประชุมอย่างไม่เป็นทางการระหว่างอาเซียน-เมียนมา ยังไม่จำเป็นต้องทำในตอนนี้ ข่าวเผยแพร่ออกไปทั่วโลก ผู้นำหลายประเทศไม่มา อาจทำให้ชาวโลกมองว่า อาเซียนเห็นไม่ตรงกัน และอาจถูกมองเลยเถิดไปได้ว่า อาเซียนมีความเห็นที่แตกแยกในประเด็นของเมียนมา ไม่ตรงกับกับฉันทามติที่เคยมีมาก่อนหน้านี้ได้” ดร.ปานปรีย์ กล่าว