ซิดนีย์, 14 มิ.ย. (ซินหัว) — คณะนักวิจัยชาวออสเตรเลียพบว่าเซลล์ปอดและหัวใจตอบสนองต่อเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (SARS-CoV-2) แตกต่างกัน ซึ่งปูแนวทางสู่การรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) อย่างตรงเป้ามากขึ้น
บทความล่าสุดที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ของสถาบันวิจัยเด็กเมอร์ด็อก (MCRI) ในเมืองเมลเบิร์นของออสเตรเลีย ชี้ว่าสเต็มเซลล์ (Stem Cell) ของหัวใจและปอดที่เคยติดเชื้อไวรัสฯ ที่ก่อโรคโควิด-19 ถูกนำมาใช้ทำความเข้าใจเพิ่มเติมว่าโรคดังกล่าวส่งผลกระทบต่ออวัยวะต่างๆ อย่างไร ในงานวิจัยร่วมนำโดยสถาบันฯ และสถาบันด้านโรคติดเชื้อและภูมิคุ้มกัน ปีเตอร์ โดเฮอตี
งานวิจัยข้างต้นพบว่าการตอบสนองต่อเชื้อไวรัสฯ แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งทำให้ทีมวิจัยสามารถระบุยาต้านไวรัสที่มีประสิทธิภาพเพื่อรักษาการติดเชื้อในเซลล์หัวใจและปอดได้ โดยผลลัพธ์การวิจัยนี้ได้รับการเผยแพร่ในสเต็มเซลล์ รีพอร์ตส (Stem Cell Reports) ฉบับฉลองครบรอบ 10 ปี
เดวิด เอลเลียต รองศาสตราจารย์ของสถาบันวิจัยเด็กเมอร์ด็อก กล่าวว่าการค้นพบว่าโรคโควิด-19 กระตุ้นการตอบสนองของเซลล์อย่างไม่คงที่ในอวัยวะต่างๆ ช่วยส่งมอบข้อมูลเชิงลึกใหม่เกี่ยวกับกลยุทธ์การรักษา โดยผลการวิจัยนี้เน้นย้ำความสำคัญของการใช้เซลล์หลากชนิดมาประเมินยาต้านไวรัส เพื่อกำหนดองค์ประกอบยาที่ดีที่สุดสำหรับการรักษาไวรัสที่มีผลกระทบต่อระบบอวัยวะต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ
(แฟ้มภาพซินหัว : ผู้หญิงเดินผ่านโรงอุปรากรซิดนีย์ เมืองซิดนีย์ของออสเตรเลีย วันที่ 6 ก.ค. 2022)