กรมควบคุมโรคผนึกกำลังทุกภาคส่วนหยุดไข้เลือดออก

2023-06-14 20:56:04

กรมควบคุมโรคผนึกกำลังทุกภาคส่วนหยุดไข้เลือดออก

Advertisement

กรมควบคุมโรคผนึกกำลังทุกภาคส่วนหยุดไข้เลือดออก เผยเด็กป่วยสูงสุด กลุ่มมีโรคประจำตัว ภาวะอ้วน หากติดเชื้อเสียชีวิต

เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.66 ที่วิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี อ.เมืองปทุมธานี จ.ปทุมธานี นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นประธานเปิดกิจกรรมพัฒนาความร่วมมือและเสริมสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายสาธารณสุข ด้านการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออก ในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี พร้อมด้วย นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร  ผวจ.ปทุมธานี โดยมีนายแพทย์สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ นายศิริพันธ์ ศรีกงพลี รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นางสาวพัชร์ชิสา พชิระธารีรัตน์ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี และคณะผู้บริหารกรมควบคุมโรค เข้าร่วม

นพ.ธเรศ  กล่าวว่า จากกรณีที่มีการคาดการณ์ว่าในปี 2566 ประเทศไทยจะพบการระบาดของโรคไข้เลือดออกมากขึ้นตามวงรอบของปีที่จะระบาด โดยในปีนี้สถานการณ์โรคไข้เลือดออก ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 7 มิ.ย.66 พบรายงานผู้ป่วยจำนวน 19,503 ราย เสียชีวิต 17 ราย และจำนวนผู้ป่วยปี 2566 มากกว่า ปี 2565 ณ ช่วงเวลาเดียวกันถึง 3.8 เท่า กลุ่มอายุที่พบอัตราป่วยสูงที่สุด ได้แก่ อายุ 5-14 ปี รองลงมา 15-24 ปี จังหวัดที่พบอัตราป่วยสูงที่สุดใน 4 สัปดาห์ล่าสุด คือ  จ.ตราด (เกาะช้าง บ่อไร่ แหลมงอบ คลองใหญ่) น่าน (สองแคว ทุ่งช้าง เชียงกลาง) จันทบุรี (เมือง ท่าใหม่ มะขาม) แม่ฮ่องสอน (ขุนยวม แม่ลาน้อย) และสตูล (เมือง) ตามลำดับ รวมการระบาดใน 348 อำเภอ 71 จังหวัด ซึ่งประเมินความเสี่ยงพบมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกภาค ส่วนปัจจัยเสี่ยงของผู้ป่วยที่เสียชีวิตคือไปรักษาที่โรงพยาบาลช้าเกินไป มีภาวะอ้วน ได้รับยากลุ่ม NSAIDs มาก่อน และมีโรคประจำตัว กรมควบคุมโรค จึงร่วมกับ จ.ปทุมธานี และเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น องค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี และวิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี จัดให้มีการรณรงค์ "บ้าน วัด โรงเรียน" พร้อมใจ หยุดภัยไข้เลือดออก สืบเนื่องจากมีการสำรวจลูกน้ำยุงลายโดยอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ล่าสุด โดยใช้แอปพลิเคชัน อสม. ออนไลน์ สำรวจใน 7 สถานที่เสี่ยงที่จะมีการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก พบลูกน้ำยุงลายที่วัด โรงเรียน และสถานที่ราชการ มีค่าดัชนีความหนาแน่นสูงสุด จึงจำเป็นต้องสร้างความเข้าใจกับประชาชนให้ถูกต้อง อาทิเช่น วัด เป็นแหล่งที่ผู้คนเข้า-ออกทำบุญอย่างต่อเนื่อง โดยพระสงฆ์ไม่สามารถกำจัดลูกน้ำและยุงลายได้ด้วยตัวเอง จึงต้องสร้างความเข้าใจกับประชาชนว่า เข้าวัดอย่าสร้างขยะ เช่น แก้วพลาสติก กล่องโฟมใส่อาหาร ที่อาจกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายได้ รวมทั้งควรมีจิตอาสาที่จะช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อมในวัดไม่ให้มีแหล่งน้ำขัง กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ส่วนโรงเรียนต้องมีมาตรการเข้มข้นในการฝึกทักษะนักเรียนให้สามารถจัดการกับปัญหายุงลายได้ เช่น จัดเวรดูแลอ่างบัว แจกันพลูด่าง ปล่อยปลาหางนกยูงเพื่อกินลูกน้ำ เป็นต้น และต้องมีมาตรการป้องกันมิให้ยุงกัดนักเรียน


ด้าน นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า งานป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกถือเป็นงานสำคัญในบทบาทหน้าที่ของอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ที่มีอยู่กว่าล้านคนทั่วประเทศ และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพเป็นกรมที่กำกับดูแล อสม. เหล่านี้ ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานไปในทิศทางที่เหมาะสม ซึ่งที่ผ่านมาผลงานดังกล่าวมีคุณภาพเป็นที่ประจักษ์ต่อคนไทย และนานาชาติให้การชื่นชมเป็นอย่างมาก อสม. มีหน้าที่ดูแลสำรวจลูกน้ำยุงลายร่วมกับเจ้าของบ้านในกลุ่มบ้านที่รับผิดชอบ รวมทั้งร่วมรณรงค์ป้องกันควบคุมโรคต่างๆ หลากหลายกิจกรรมเป็นที่น่าชื่นชม ถือเป็นงานจิตอาสาอีกทางหนึ่งด้วย

นายศิริพันธ์ ศรีกงพลี รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวเสริมว่า กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้มองเห็นปัญหาการระบาดของโรคไข้เลือดออก และได้กำกับดูแลบุคลากรในด้านต่างๆ ของท้องถิ่นทั่วภูมิภาคประเทศไทย ทำงานใกล้ชิดประชาชน ช่วยส่งเสริมการดำเนินงานทางด้านสาธารณสุขแก่ท้องถิ่นได้ โดยเร่งประสานงานกับ อสม. ขับเคลื่อนการจัดการสิ่งแวดล้อมร่วมกับประชาชน เพื่อลดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายอย่างจริงจัง

ด้าน น.ส.พัชร์ชิสา พชิระธารีรัตน์ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า ภารกิจด้านสุขภาพ เช่น การป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกถือเป็นงานสำคัญของ องค์การบริหารส่วนจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนของจังหวัด อบจ. ปทุมธานี มีหน้าที่กำกับดูแลโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลโดยตรง ทั้งที่โอนย้ายมาแล้วและในส่วนที่กำลังดำเนินการ รพสต. เป็นที่พึ่งของประชาชนในการวินิจฉัยโรคเบื้องต้น และการควบคุมโรคหากเกิดเจ็บป่วย จะได้เร่งรัดงานสำคัญนี้ ต่อไป

ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงกัด โดยการทายากันยุงหรือนอนในมุ้ง และหากประชาชนมีอาการไข้สูงลอย ร่วมกับอาการปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระบอกตา หรือมีจุดเลือดออกที่ลำตัว และแขน ขา ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง โดยเฉพาะยาลดไข้ในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน ไดโครฟีแนก แอสไพริน รวมถึงยาชุด ซึ่งมีผลทำให้เลือดออกในช่องทางเดินอาหารและยากต่อการรักษา เสี่ยงต่อการเสียชีวิต หากมีไข้ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยแยกโรคให้ชัดเจน จะได้รับการรักษาที่เหมาะสม และช่วยป้องกันการเสียชีวิตได้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422