"ปดิพัทธ์"สวน "วิษณุ" ศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่เสนอชื่อเป็นนายกฯ ได้

2023-06-14 20:18:10

 "ปดิพัทธ์"สวน "วิษณุ" ศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่เสนอชื่อเป็นนายกฯ ได้

Advertisement

"ปดิพัทธ์"สวน "วิษณุ" ยันผู้ถูกศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่สามารถเสนอชื่อโหวตเป็นนายกฯ ได้ เตือนระวังถูกมองชี้นำองค์กรอื่น  

เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 66  นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ว่าที่ ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่าผู้ที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี หากอยู่ระหว่างถูกฟ้องร้องมีคดีความ และมีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ถ้าศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ จะไม่สามารถเสนอชื่อผู้นั้นเป็นนายกฯ ได้ โดยอ้างกรณีธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เมื่อปี 62ว่า   นายวิษณุคงเข้าใจผิดพลาดคลาดเคลื่อน ทั้งในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะสถานการณ์ทางการเมืองเปลี่ยนแปลงบ่อย ตัวบทกฎหมายก็มีจำนวนมาก โดยตนขอชี้แจงเป็นรายประเด็นรวม 3 ประเด็น เพื่อให้พี่น้องประชาชนเข้าใจว่าความจริงเป็นอย่างไร

ประเด็นที่ 1 หากมีการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสมาชิกภาพของผู้ที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ ว่าสิ้นสมาชิกภาพไปแล้วหรือไม่ ซึ่งสำหรับพรรคก้าวไกล ผู้ที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ คือ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค ที่ปัจจุบันกำลังถูกบรรดานักร้องทางการเมือง ร้องเรียนกรณีการถือหุ้นไอทีวี เข้าข่ายถือหุ้นสื่อ เป็นลักษณะต้องห้ามในการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3)ตนมั่นใจว่านายพิธาสามารถชี้แจงกรณีหุ้นสื่อไอทีวีได้ และเดินหน้าตามกระบวนการสู่การเป็นนายกฯ ตามความคาดหวังของประชาชน แต่หากเรื่องนี้ไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ และศาลเห็นควรให้มีการหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย ก็เป็นการหยุดปฏิบัติหน้าที่ในการเป็น ส.ส. เท่านั้น แต่โดยคุณสมบัตินายพิธายังคงเป็นแคนดิเดตนายกฯ ได้ตามกฎหมาย เนื่องจากเป็นคนละตำแหน่งและคนละกรณี จึงย่อมไม่ส่งผลทางกฎหมายต่อการเสนอชื่อนายพิธาต่อรัฐสภา เพื่อให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกฯ ดังนั้น ความเห็นของวิษณุที่ว่า ถ้าศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ จะไม่สามารถเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ ได้ จึงไม่ถูกต้อง

ส่วนกรณีเคยเกิดขึ้นแล้วกับนายธนาธรเมื่อปี 62 ครั้งเป็นหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ขณะนั้นศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้นายธนาธรหยุดปฏิบัติหน้าที่เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 62 และมีการอ่านคำสั่งในวันแรกของการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อลงมติเลือกประธานและรองประธานสภา เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 62 ต่อมามีการนัดประชุมรัฐสภาในวันที่ 5 มิ.ย. 62 เพื่อลงมติเลือกนายกฯ ขณะนั้นมีการเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และนายธนาธร ในฐานะแคนดิเดตนายกฯ ซึ่งไม่ได้มีปัญหาทางกฎหมายใดๆ โดยผลการลงมติของรัฐสภา พล.อ.ประยุทธ์ ชนะจนได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกฯ ดังนั้น ที่นายวิษณุกล่าวว่า กรณีนายธนาธร โหวตเลือกนายกฯ ไปแล้ว 2 วัน จึงถูกให้หยุดปฎิบัติหน้าที่ 2 สมัย นั้น น่าจะเป็นการจดจำช่วงเวลาคลาดเคลื่อน

ประเด็นที่ 2 กรณีการเข้าชื่อตรวจสอบสมาชิกภาพ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ที่นายวิษณุระบุว่า ถ้าฝั่ง ส.ว. จะยื่นใช้ 25 คนนั้น เมื่อกลับไปดูมาตราดังกล่าว เห็นได้ชัดเจนว่ากำหนดให้ ส.ส. หรือ ส.ว. จํานวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา มีสิทธิเข้าชื่อร้องต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิก ว่าสมาชิกภาพของสมาชิกคนใดคนหนึ่งแห่งสภานั้นสิ้นสุดลง หมายความว่า ให้สมาชิกของแต่ละสภาสามารถตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของสมาชิกของสภาเดียวกัน เช่น ส.ส. เข้าชื่อเพื่อตรวจสอบ ส.ส. หรือ ส.ว. เข้าชื่อเพื่อตรวจสอบ ส.ว. จึงไม่ได้หมายความว่าให้ ส.ส. เข้าชื่อเพื่อตรวจสอบ ส.ว. หรือ ส.ว. เข้าชื่อเพื่อตรวจสอบ ส.ส. ตามที่นายวิษณุระบุ ดังนั้น เมื่อนายพิธาเป็น ส.ส. จะให้ ส.ว. เข้าชื่อเพื่อมาตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของนายพิธา ที่เป็น ส.ส. ตามที่นายวิษณุกล่าว ก็ดูเป็นความเข้าใจรัฐธรรมนูญผิดพลาดคลาดเคลื่อนไป

ส่วนประเด็นที่ 3 ต่อคำถามของผู้สื่อข่าวว่า กรณีผู้ที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ ถูกศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ มีขั้นตอนกฎหมายใดที่ขัดขวางไม่ให้นำเรื่องขึ้นทูลเกล้าฯ หรือไม่ และนายวิษณุระบุว่า “ปกติการแต่งตั้งตำแหน่งใดก็ตาม เป็นพระราชอำนาจ กรณีแต่งตั้งข้าราชการประจำ ผู้พิพากษาอัยการอธิบดี หรือแม้แต่ขอประธานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ได้มีข้อตกลงกับสำนักพระราชวังมา 2-3 ปีแล้วว่าให้เข้มงวดกวดขัน ถ้ามีก็ให้กราบบังคมทูลขึ้นไปว่า มีเหตุแบบนี้อยู่ แล้วจะโปรดเกล้าฯ อย่างไร ก็แล้วแต่” โดยในกรณีโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกฯ ผู้ที่รับผิดชอบคือประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

นายปดิพัทธ์  กล่าวต่อว่า ตนเห็นว่าการให้ความเห็นของนายวิษณุแบบนี้ แม้เป็นความพยายามอธิบายกระบวนการที่ทำกันมา แต่ต้องไม่ลืมว่าตำแหน่งอื่นๆ ที่ยกตัวอย่างคือข้าราชการประจำ ต่างจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่เป็นฝ่ายการเมืองโดยแท้และได้รับความไว้วางใจจากประชาชน การยกมาเปรียบเทียบแบบนี้ จะกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และกระทบต่อพระราชสถานะทรงดำรงความเป็นกลางทางการเมืองและศูนย์รวมจิตใจ ในเมื่อประธานสภาผู้แทนราษฎรในฐานะผู้รับสนองพระบรมราชโองการ เป็นผู้มีอำนาจและต้องรับผิดชอบอยู่แล้ว นายวิษณุก็ไม่ควรอ้างถึงพระมหากษัตริย์ ถ้าตนเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร ตนพร้อมรับผิดชอบ