"เรืองไกร" จี้ กกต.ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ปม "พิธา"ถิอหุ้นสื่อ ถามสมาชิกภาพ ส.ส. เมื่อต้นปี 62 สิ้นสุดลงหรือไม่ ถือว่าไม่มีการเสนอชื่อนายกฯ ใช่หรือไม่
จากกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติเป็นเอกฉันท์ 6 เสียง ไม่รับคำร้องกรณีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี มีคุณสมบัติลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ในการสมัครรับเลือกตั้ง เหตุถือหุ้นไอทีวี 42,000 หุ้น โดยเห็นว่าคำร้องที่ได้ยื่นมาของทั้ง 3 คำร้อง เป็นคำร้องที่ยื่นเกินระยะเวลาที่จะสั่งรับคำร้องไว้พิจารณา แต่มีข้อมูลเพียงพอที่จะสืบสวนไต่สวนต่อไปว่า นายพิธา เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง และรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเนื่องจากมีลักษณะต้องห้ามแต่ได้สมัครรับเลือกตั้ง อันเข้าข่ายเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนมาตรา 42 (3) และมาตรา 151 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.หรือไม่
เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.66 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ตั้งข้อสังเกตว่า กรณี กกต.มีมติ 6 ต่อ 0 ตีตกคำร้องกรณีการถือหุ้นไอทีวีของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี กกต.อ้าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 51 และมาตรา 60 นั้น พอฟังได้เฉพาะกรณีประเด็นที่ร้องลักษณะต้องห้ามในคราวสมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อเมื่อวันที่ 4 เม.ย. 66 เท่านั้น แต่เนื่องจาก กกต. ไปตั้งเรื่องให้สอบทางอาญาตามมาตรา 151 ฐานรู้ว่าไม่มีสิทธิสมัคร ส.ส. ซึ่งอาจทำให้เข้าใจได้ว่า กกต. เห็นว่าการถือหุ้นสื่อตามคำร้องเข้าข่ายมีลักษณะต้องห้ามตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 42(3) ประกอบรัฐธรรมนูญมาตรา 98(3) ดังนั้นในคำร้องยังมีประเด็นอื่นที่เป็นผลมาจากการถือหุ้นสื่อรวมอยู่ด้วย ซึ่ง กกต. ควรดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป เช่น สมาชิกภาพ ส.ส. เมื่อต้นปี 62 สิ้นสุดลง หรือไม่ ทำไม กกต. ไม่ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 และตามพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 14 วรรคสอง ประกอบรัฐธรรมนูญ มาครา 89 วรรคสอง ให้ถือว่า ไม่มีการเสนอชื่อนายกฯ ใช่หรือไม่ ตัวอย่างแค่นี้ คงพอเป็นเหตุผลให้ กกต. ย้อนไปดูคำร้องให้ละเอียดว่า ยังมีงานที่ต้องทำตามหน้าที่และอำนาจต่อไป หรือไม่ โปรดติดตามตอนต่อไป หลังวันจันทร์ที่ 12 มิ.ย. ศกนี้