ทีมเศรษฐกิจ พท. ถกแนวทางสร้างรายได้ใหม่ให้ประเทศในหลากหลายมิติ
เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 66 ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการ พท. ในฐานะกรรมการ เลขานุการและโฆษกคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า วันนี้ได้มีการประชุมคณะกรรรมการด้านเศรษฐกิจของ พท. นำโดยนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ประธานกรรมการ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองประธานกรรมการ นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ นายศุภวุฒิ สายเชื้อ นายปานปรีย์ พหิทธานุกร ที่ปรึกษา และกรรมการด้านเศรษฐกิจหลายท่าน โดยที่ประชุมได้หารือเพื่อเดินหน้าทำงานอย่างต่อเนื่อง หารือแนวทางสร้างรายได้ให้กับประเทศในด้านต่างๆ
1. ด้านการต่างประเทศ ที่ประชุมได้พิจารณาการสร้างความเชื่อมั่นและบทบาทของประเทศไทยบนเวทีโลก การอำนวยความสะดวกด้านการศุลกากรแบบไร้รอยต่อ การเจรจาความตกลงการค้าเสรี ไม่ว่าจะเป็นไทย-EU ไทย-EFTA ไทย-GCC ไทย-UK และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) และการรับมือนโยบายเน้นการบริโภคภายในของประเทศจีน และการหาตลาดใหม่ในประเทศที่มีประชากรมากแต่ปริมาณการค้ากับไทยยังน้อย เช่น ประเทศไนจีเรีย และความท้าทายภาคธุรกิจไทยและโอกาสใน BIMSTEC
2. ด้านภาวะหนี้และการเข้าถึงแหล่งทุน ที่ประชุมหารือ 3 ปัญหาสำคัญที่ทำให้ภาคเอกชนเข้าไม่ถึงแหล่งทุน คือ 1.การขาดหลักประกันที่ตรงกับความต้องการของสถาบันการเงิน 2.การมีประวัติการชำระหนี้ที่ไม่ดี และ 3.แนวทางประกอบธุรกิจไม่ตอบโจทย์ นอกจากนั้นยังมีความกังวลกับภาวะหนี้เสียของภาคเอกชนที่เป็นระเบิดเวลาที่จะเป็นปัญหาในระยะถัดไป
3. ด้านการเกษตร ที่ประชุมหารือแนวทางปฏิบัติต่อเนื่องจากแนวนโยบายของพรรค ไม่ว่าจะเป็นการใช้ตลาดนำการผลิต การเพิ่มผลิตภาพของภาคการเกษตร การขยายพื้นที่ชลประทาน และการปรับพื้นที่เพาะปลูกให้ตรงกับความต้องการของตลาด รวมถึงการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินบนเงื่อนไขการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ซึ่งเป็นการสร้างรายได้ใหม่ให้กับประชาชนจากสินทรัพย์ที่ถูกมองข้าม
4. ด้านพลังงาน ที่ประชุมหารือการบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนเรื่องราคาพลังงาน โดยการขยายเวลายกเว้นการเก็บภาษีน้ำมันดีเซล ลิตรละ 5 บาท รวมถึงการปรับโครงสร้างพลังงานเพื่อแก้ไขปัญหาราคาพลังงานในระยะกลาง-ยาว โดยยึดหลักความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย
5. ด้านการท่องเที่ยว ได้หารือเกี่ยวกับการเปิดประตูรับนักท่องเที่ยวกำลังซื้อสูงผ่านวีซ่าแบบเดินทาง เข้า-ออกหลายครั้ง (Multiple Entry Visa) การสร้างแรงจูงใจเพื่อเปิดประตูรับนักท่องเที่ยวแบบพักพิงระยะยาว ผู้สูงอายุ และการดึงดูดนักท่องเที่ยวเอเชียใต้ รวมถึงการแก้กฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการท่องเที่ยว