ปลัด สธ. รับภาระงาน มีส่วนทำให้บุคลากรลาออก ขอบคุณหมอ พยาบาล บุคลากรทุกคน ที่เสียสละ ทุ่มเท ทำงานให้ประเทศ
เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.66 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีมีบุคลากรทางการแพทย์ลาออกจำนวนมาก ว่า ขอให้ฟังการแถลงของ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ที่จะมีการเสนอรายละเอียดและข้อมูลภาพรวมและเหตุการณ์ที่ประชาชนสนใจ ต้องยอมรับว่าความต้องการรับบริการของประชาชนมีสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงหลังจากสถานการณ์โควิด-19 ที่พยายามจะยกระดับทำงาน แต่มีข้อจำกัดเรื่องบุคลากร ขอบคุณ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ที่อนุมัติบุคลากรการหลังโควิด 45,000 อัตรา ทำให้ความกดดันเรื่องของบุคลากรลดลงแต่ยังไม่หมด เนื่องจากความต้องการรับบริการของประชาชนมีมาก นอกจากนั้นมีปัญหาเรื่องงบประมาณ ที่ได้รับจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่เหมาจ่ายรายหัว ซึ่งเราหวังว่าจะได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้น ให้เท่ากับที่ต้องบริการประชาชน
ต่อข้อถามว่าเรื่องงบประมาณ เป็นปัญหาหลักที่ทำให้บุคลากร ลาออกหรือไม่ ปลัด สธ. กล่าวว่า เป็นส่วนหนึ่ง มีทั้งเรื่องบุคลากร และหากสังเกตทุกอย่างอยู่นอกการควบคุมของ สธ. และเราใช้ทรัพยากรทั้งคนและเงินที่มีอยู่อย่างจำกัด มาบริการประชาชนให้ได้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ เพื่อไม่ให้เดือดร้อน ต้องขอบคุณหมอ พยาบาล และบุคลากรทุกคน ที่เสียสละ ทุ่มเท ทำงานให้ประเทศ และกระทรวง เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการอย่างดีที่สุด เราจะดูแลจัดการเรื่องนี้ให้มีประสิทธิภาพ ได้กำชับเรื่องสวัสดิการและภาระงานไม่ให้เกินไป ที่ดูจากตัวเลขภาระงานค่อยๆ ลดลง และดีขึ้น แต่ไม่ได้แปลว่าหมดไป ส่วนที่มีบางจุดที่เป็นปัญหา ก็ค่อยๆ แก้เป็นจุดๆ ไป และในสังคมปัจจุบัน ประชาชนที่อยู่ในชนบทตอนนี้มาอยู่ในเมืองเยอะกว่า ทำให้ภาระงานในโรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลทั่วไป มีมากกว่าโรงพยาบาลอำเภอ โดยกระทรวงพยายามปรับเปลี่ยนตรงนี้ เพื่อให้เกิดความสมดุล โดยยึดถือนโยบายว่า จังหวัดหนึ่งให้เป็นโรงพยาบาลเดียวกัน ก็จะอยู่โรงพยาบาลไหน สามารถเคลื่อนย้ายบุคลากรกันได้ ให้เกิดภาระงานของที่ใดหนักเกินไป
ต่อข้อถามว่าจะทำให้เกิดการสมองไหลในวงการแพทย์หรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า เราต้องใช้มาตรการหลายส่วน และการที่บุคลากรจะอยู่ได้ หนึ่งคือเรื่องค่าตอบแทนที่ต้องเปรียบเทียบกับภาคเอกชนที่เป็นการดึงดูดใจ และเรื่องสวัสดิการที่กระทรวงเพิ่มค่าตอบแทนและโอทีเพิ่มเข้าไป ดูแลเรื่องบ้านพักกำชับให้สร้างบ้านพักสำหรับหมอพยาบาลให้เพียงพอ และความก้าวหน้าในวิชาชีพ ซึ่งตอนนี้ แพทย์ได้ซี 9 ทุกคน ส่วนพยาบาลราชการและได้รับราชการ พยายามที่จะให้ซี 8 ซี 9 ทุกคน ถ้าทำได้โดยต้องดูระเบียบของ ก.พ. เรื่องของภาระงานยอมรับว่าเป็นเรื่องที่แก้ยาก เนื่องจากความต้องการของประชาชนมีเยอะ แต่ถ้ามีบุคลากรและงบประมาณเพิ่มขึ้น ก็จะจัดการได้ดีขึ้น