"ไซยาไนด์" สารพิษอันตราย

2023-04-27 14:48:22

"ไซยาไนด์" สารพิษอันตราย

Advertisement

"ศูนย์พิษวิทยา"ชี้ "ไซยาไนด์" เป็นสารพิษมีความรุนแรงสูง ออกฤทธิ์เร็ว หากดื่มจะเกิดอาการภายในไม่กี่นาที เริ่มจากอาการทางสมอง ชัก หมดสติ ความดันโลหิตต่ำ ชีพจรเต้นเร็ว ผิวหนัง เยื่อบุมีสีแดงกว่าปกติ  หากผู้ป่วยได้รับยาต้านพิษทันเวลาสามารถรอดชีวิตได้

จากกรณีที่ นางสรารัตน์ หรือ "แอม" ตกเป็นผู้ต้องหา "ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน" โดยเชื่อว่าเธอน่าจะใช้ "ไซยาไนด์" ผสมอาหารให้ผู้ตายรับประทาน เพื่อหวังทรัพย์สินมีค่าต่างๆ โดยมีเหยื่อนับ 10 รายนั้น

เมื่อวันที่ 27 เม.ย.66 ศูนย์พิษวิทยา คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล  เผยแพร่ "ความรู้เกี่ยวกับพิษจากสารไซยาไนด์"   ระบุว่า  ตามที่มีข่าวเกี่ยวกับผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากไซยาไนด์ ศูนย์พิษวิทยา ศูนย์เพื่อความเป็นเลิศ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ขอเรียนให้หราบว่า "ไซยาไนด"  เป็นสารพิษที่มีความรุนแรงสูงและออกฤทธิ์ได้เร็ว หากผู้ป่วยดื่มสารละลายที่มีไซยาไนด์อยู่จะเกิดภาวะพิษขึ้นได้ อาการพิษจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่กี่นาที โดยเริ่มจากอาการทางสมอง ได้แก่ ชัก หมดสติอย่างรวดเร็ว แล้วตามด้วยความดันโลหิตต่ำ ชีพจรเต้นเร็วและอาจสังเกตพบว่าผิวหนังและเยื่อบุจะมีสีแดงกว่าปกติ หากไม่ได้รับการรักษาก็จะเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว ฉะนั้น หากผู้ปวยมีประวัติดื่มเครื่องดื่มแล้วเกิดอาการข้างต้นในเวลาอันสั้นไม่กี่นาทีอาจจะเกิดขึ้นจาก "พิษสารไซยาไนด์" ได้ อย่างไรก็ตามภาวะของโรคหัวใจหรือโรคหลอดเสือดในสมองก็ทำให้ผู้ป่วยหมดสติทันทีได้เช่นเดียวกันฉะนั้น ควรนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดโดยทันทีเพื่อให้แพทย์ได้ตรวจวินิฉัยแยกโรคว่าเป็นโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดในสมอง หรือพิษจากไซยาไนด์ ซึ่งทางโรงพยาบาลมีวิธีการตรวจแยกโรคเหล่านั้นออกจากกันได้ ส่วนการรักษาพิษจากไซยาไนด์นั้นมียาต้านพิษจำเพาะ หากผู้ป่วยได้รับยาต้านพิษได้ทันเวลา ผู้ป่วยจะสามารถรอดชีวิตได้

กรณีที่เป็นพิษจากไซยาไนด์ หากโรงพยาบาลต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถโทรปรึกษาเข้ามาที่ศูนย์พิษวิทยา เพื่อขอข้อมูลในการวินิฉัยและการรักษาได้ตลอด 24 ชั่วโมง เป็นความโชคดีของประเทศไทย ที่มีโครงการยาต้านพิษ ซึ่งเป็นโครงการที่เกิดจากความร่วมมือกันระหว่างสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ องค์การเภสัชกรรม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข และศูนย์พิษวิทยา โดยจัดให้มีการสำรองยาต้านพิษหลายชนิดโดยเฉพาะยาต้านพิษจากสารไซยาไนด์ไว้ในโรงพยาบาลระดับจังหวัดขึ้นไปทุกแห่งทั่วประเทศ ซึ่งหากผู้ป่วยจำเป็นต้องใช้ยาต้านพิษดังกล่าวนี้ แพทย์ในโรงพยาบาลต่าง ๆสามารถร้องขอยาต้านพิษจากแหล่งสำรองยาต้านพิษให้กับผู้ป่วยได้ทุกเวลา โดยสามารถใช้ได้กับทุกสิทธิการรักษา

ในกรณีของกรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลระดับโรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลใหญ่ของรัฐบาล และศูนย์พิษวิทยาได้มีการสำรองยาต้านพิษจากสารไชยาไนด์ไว้ เมื่อมีผู้ป่วยได้รับพิษหรือสงสัยว่าเกิดพิษจากสารไซยาไนด์ โรงพยาบาลต่างๆ สามารถปรึกษามาที่ศูนย์พิษวิทยาผ่าน "สายด่วน 1367"หากแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญทางพิษวิทยายืนยันการวินิจฉัย ทางศูนย์พิษวิทยามีระบบการประสานรถพยาบาลพร้อมยาต้านพิษเพื่อนำส่งอย่างเร่งด่วนเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยาอย่างรวดเร็วอันจะช่วยให้ผู้ป่วยมีโอกาสรอดชีวิตสูง