ปักกิ่ง, 21 เม.ย. (ซินหัว) — เมื่อวันอังคาร (18 เม.ย.) หนังสือพิมพ์ไชน่า ไซแอนซ์ เดลี (China Science Daily) รายงานว่าโครงการโครงสร้างพื้นฐานด้านการวิจัยและจำลองสภาพแวดล้อมอวกาศ (SESRI) หรือ “สถานีอวกาศภาคพื้นดิน” ของจีน เริ่มดำเนินการทดลองแล้ว เมื่อไม่นานนี้
โครงการฯ ตั้งอยู่ในนครฮาร์บิน เมืองเอกของมณฑลเฮยหลงเจียงทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน เป็นแพลตฟอร์มการทดลองวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอวกาศภาคพื้นดินขนาดใหญ่ ที่ถูกออกแบบเพื่อการศึกษาประเด็นวิทยาศาสตร์พื้นฐานด้านวัสดุอวกาศ อุปกรณ์ ฟิสิกส์สนามแม่เหล็กโลก และด้านอื่นๆ
โครงการนี้ร่วมพัฒนาโดยสถาบันเทคโนโลยีฮาร์บิน และบริษัทวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอวกาศแห่งประเทศจีน มีความสามารถในการจำลองปัจจัยสภาพแวดล้อมในอวกาศ 9 ประการ อาทิ พลาสมา สุญญากาศ การแผ่รังสีของอนุภาค และรังสีแม่เหล็กไฟฟ้าสุริยะ
หลี่ลี่อี้ รองผู้อำนวยการบริหารโครงการฯ ระบุว่ามหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยมากกว่า 110 แห่งทั้งในและต่างประเทศได้ลงทะเบียนเพื่อใช้แพลตฟอร์มนี้แล้ว พร้อมเสริมว่าในอนาคตแพลตฟอร์มดังกล่าวจะมีบทบาทสำคัญในหลายด้าน เช่น วิทยาศาสตร์สมอง ชีวิตและสุขภาพ ตลอดจนการพัฒนาเครื่องมือชั้นสูง
(ภาพจากศูนย์ควบคุมการบินและอวกาศปักกิ่ง : ภาพหน้าจอแสดงเฟ่ยจวิ้นหลง (ขวา) และจางลู่ นักบินอวกาศประจำภารกิจเสินโจว-15 เตรียมตัวออกจากโมดูลห้องปฏิบัติการเวิ่นเทียน)