รักษา-ป้องกัน "โรคไข้เลือดออก"
ผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัสเดงกีไม่จำเป็นต้องมีอาการเป็นไข้เลือดออกทุกคน ผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัส จะมีเพียง 25-30% ที่จะมีอาการป่วยขึ้น ที่เหลือจะติดเชื้อแบบไม่มีอาการ แต่สามารถแพร่เชื้อได้ กล่าวคือถ้ายุงลายมากัดคนที่มีเชื้อในเลือดถึงแม้จะไม่มีอาการก็สามารถแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้ ผู้ป่วยที่มีอาการจะมีอาการได้หลากหลายตั้งแต่อาการน้อย จนถึงอาการรุนแรง สามารถแบ่งอาการของการติดเชื้อเดงกีที่มีอาการดังนี้
1. อาการไข้ไม่ทราบสาเหตุ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสเดงกีบางรายอาจมีไข้เพียงอย่างเดียว หรืออาการไม่จำเพาะอื่น ๆ เช่นปวดเมื่อยตามตัว ผื่น แล้วอาการหายไปเอง
2. ไข้เดงกีโดยไม่มีการรั่วของพลาสมา ผู้ป่วยที่เป็นไข้เดงกีโดยไม่มีการรั่วของพลาสมาจะมีไข้สูง รับประทานอาหารได้ลดลง ปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะ ปวดข้อ คลื่นไส้อาเจียน ผื่น อาจมีเลือดออก เช่น เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน ผู้ป่วยอาจมีไข้อยู่ 4-5 วันแล้วหายเอง โดยไม่ช็อก
3. ไข้เดงกีโดยมีการรั่วของพลาสมา ผู้ป่วยที่เป็นไข้เดงกีโดยมีการรั่วของพลาสมาจะมีอาการเหมือนอาการใน ข้อ 2. แต่เมื่อถึงเวลาไข้เริ่มลงจะมีอาการแย่ลงกล่าวคือมีการรั่วของพลาสมาดังที่ได้กล่าวข้างต้น ถ้ามีการรั่วมากทำให้ความดันโลหิตต่ำลง และมีภาวะช็อกได้ นอกจากนี้ยังมีภาวะเลือดออกร่วมด้วย ในบางครั้งอาจมีภาวะเลือดออกมากจนต้องให้เลือด ผู้ป่วยที่มีภาวะช็อกจะมีอาการมือเท้าเย็น ชีพจรเบาเร็ว กระสับการะส่าย ปัสสาวะออกน้อยลง โดยปกติการรั่วของพลาสมาจะกินเวลาประมาณ 24-48 ชั่วโมง หลังจากนั้นจะเข้าสู่ระยะฟื้น กล่าวคือการรั่วของพลาสมาจะลดลงจนหยุด พลาสมาที่เคยรั่วออกไปจะกลับเข้าสู่เส้นเลือดตามเดิม ผู้ป่วยจะเริ่มรับประทานอาหารได้มากขึ้น มีปัสสาวะออกมากขึ้น และมีผื่นแดงคันขึ้นตามตัว แขนขา
4. การติดเชื้อไวรัสเดงกีที่มีอาการอื่น ๆ ผู้ติดเชื้อไวรัสเดงกีอาจมีอาการอื่น ๆ ได้ เช่นมีอาการเหมือนสมองอักเสบ มีภาวะชัก มีอาการอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจ เป็นต้น
ดังนั้นหากมีอาการไข้สูง ปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน มีจุดเลือดออกตามตัว ไม่มีอาการไอ หรือน้ำมูก และที่สำคัญคือร่วมกับมีการระบาดของโรคไข้เลือดออกในชุมชน จะต้องระวังว่าจะเป็นไข้เลือดออกหรือไม่ หากไม่แน่ใจควรไปพบแพทย์เพื่อให้ได้การวินิจฉัยที่ถูกต้อง
การรักษา
ดังที่กล่าวข้างต้น ผู้ป่วยที่มีอาการในช่วงแรกจะมีไข้สูง เบื่ออาหาร ช่วงที่ไข้สูง มักไม่ค่อยมีภาวะแทรกซ้อนที่อันตราย ดังนั้นสามารถดูแลเบื้องต้นได้ด้วยการให้รับประทานยาลดไข้จำพวก paracetamol หลีกเลี่ยงยาลดไข้กลุ่ม aspirin หรือ ibuprofen เพราะยาเหล่านี้จะทำให้เลือดออกได้ง่ายขึ้น นอกจากให้รับประทานยา paracetamol แล้วยังสามารถให้ดื่มน้ำเกลือแร่ รับประทานอาหารอ่อนๆ แต่ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีสีแดง หรือน้ำตาล เพราะหากผู้ป่วยอาเจียนออกมาจะแยกยากว่าเป็นสีจากอาหารหรือสีจากเลือดออก ให้พักผ่อนมาก ๆ ที่สำคัญคือถ้าภายใน 3-4 วันอาการยังไม่ดีขึ้น หรือมีอาการอาเจียนมาก ปวดท้องมาก ซึมลง ปัสสาวะออกน้อยลง มีเลือดออกมาก ควรรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล
ในผู้ป่วยที่มีอาการที่มากเช่น รับประทานอาหารไม่ได้เลย อาเจียนมาก มีเลือดออกมาก หรือแพทย์สงสัยว่าอาจจะเริ่มเข้าสู่ภาวะช็อก แพทย์จะรับรักษาตัวไว้ในโรงพยาบาล การรักษาแพทย์จะพิจารณาให้น้ำเกลือ และเฝ้าติดตามสัญญาณชีพอย่างใกล้ชิด อาจต้องมีการจับชีพจร วัดความดันบ่อยทุก 15-30 นาที มีการวัดปริมาณปัสสาวะ ถ้ามีเลือดออกมากจำเป็นต้องให้ส่วนประกอบของเลือด และให้การรักษาอื่น ๆ ตามภาวะแทรกซ้อนที่พบ
ในปัจจุบันยังไม่มียาต้านไวรัสที่จำเพาะต่อไวรัสไข้เลือดออก สำหรับวัคซีนเริ่มมีใช้แล้ว แต่ประสิทธิภาพยังไม่ได้ 100% กล่าวคือสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ และสามารถลดความรุนแรงของโรคได้ แต่ไม่ได้ครบ 100% และราคายังค่อนข้างสูงอยู่
การป้องกัน
เนื่องจากโรคนี้แพร่โดยยุงลาย การควบคุมประชากรของยุงลายจัดเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการควบคุมโรคไข้เลือดออก ควรมีการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายอย่างเหมาะสม เช่น ไม่ควรมีน้ำขังตามภาชนะต่าง ๆ ในบ้าน หรือใส่ทรายอะเบท ภาชนะใส่น้ำควรมีฝาปิดให้มิดชิด หากอยู่ที่ในที่ที่อาจมียุงชุม ควรสวมเสื้อหรือกางเกงขายาว ทายาป้องกันการกัดของยุง นอนในมุ้งเพื่อไม่ให้ถูกยุงกัด
โรคไข้เลือดออกเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี โดยมียุงลายเป็นพาหะ ส่วนใหญ่ผู้ติดเชื้อไม่มีอาการ ผู้มีอาการส่วนใหญ่ก็จะมีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว อาจมีจุดเลือดออก และหายเองได้ มีผู้ป่วยส่วนน้อยที่การดำเนินโรคนำไปสู่ภาวะช็อกได้ การดูแลที่สำคัญคือการป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัด หากมีไข้และสงสัยว่าอาจเป็นไข้เลือดออก สามารถให้การรักษาแบบประคับประคอง แต่ต้องไปรับการตรวจติดตามไม่ควรรับประทานยากลุ่ม aspirin หรือ ibuprofen หากมีไข้แล้ว 3-4 วันอาการยังไม่ดีขึ้น หรือมีอาการซึมลง ตัวเย็น ดูกระสับกระส่าย ควรรีบไปตรวจที่โรงพยาบาล
รศ.นพ.ดร. นพพร อภิวัฒนากุล
สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล