ประวัติสมเด็จพระเทน ซิน เกียตโซ ดาไลลามะ องค์ที่ 14
สมเด็จพระเทน ซิน เกียตโซ ดาไลลามะ องค์ที่ 14 แห่งทิเบต ประสูติเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ.2478 ณ เมืองตักเซอร์ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของทิเบต ทรงถูกค้นพบด้วยวิธีการตามประเพณีทิเบตเมื่อพระชนมายุ 2 พรรษาเศษ พระนามตอนเป็นเด็กคือ ลาโม ดอนดุป เมื่อบรรพชาเป็นสามเณร จึงถูกเปลี่ยนพระนามตามประเพณีเป็น จัมเพล เยเช และต่อมาก็ใส่ชื่ออื่นๆ ด้วย จึงมีพระนามเต็มว่า จัมเฟล นาวัง ลบซัง เยเช เทนซิน เกียตโซ ทรงขึ้นครองราชย์เป็นผู้นำทิเบต เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2483 พระชนมายุ 5 พรรษา ด้านการศึกษา ทรงเริ่มต้นเมื่อพระชนมายุ 6 พรรษา กระทั่ง 25 พรรษา ทรงจบปริญญาเอกปรัชญาของทิเบต ชื่อ เกเช ลารามปา (Geshe Lharampa Degree)
ทั้งนี้ “ดาไล” เป็นคำจากภาษามองโกล แปลว่าทะเลอันกว้างใหญ่ หรือมหาสมุทร ส่วน “ลามะ” เป็นภาษาทิเบต หมายถึงผู้มีความรู้ “ดาไลลามะ” จึงหมายถึงมหาสมุทรแห่งปัญญา อย่างไรก็ตาม องค์ดาไล ลามะเคยมีรับสั่งว่า คำ ดาไล แปลมาจากคำว่า “เกียตโซ” ในพระนามขององค์ดาไล ลามะ องค์ที่ 3 ซึ่งแปลว่ามหาสมุทร สำหรับพระองค์เอง แต่เดิมชาวทิเบตเรียกว่าพระองค์ว่า เกียลวา รินโปเช, คุนดุน หรือ เยเช นอรบ แต่ปัจจุบันก็เรียก ดาไลลามะ ตามที่รู้จักกันในคำสากล ส่วนพระนามที่ชาวตะวันตกเรียกเป็นภาษาอังกฤษคือ His Holiness The XIV Dalai Lama
ทรงได้รับตำแหน่งและอำนาจทางการเมืองอย่างสมบูรณ์ เป็นประมุขของชาติ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2493 ปีเดียวกับที่กองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนเข้าปราบปรามการต่อต้านในทิเบต ก่อนรัฐบาลจีนเสนอข้อตกลงให้ทิเบตยอมรับว่าจีนมีอำนาจเหนือ ช่วงเวลานั้น พระองค์เดินทางไปปักกิ่งในปี 2497 เพื่อเจรจาสันติภาพกับ เหมา เจ๋อ ตุง, โจว เอิน ไหล และเติ้ง เสี่ยว ผิง อีก 2 ปี ถัดมาทรงเดินทางไปอินเดียเข้าร่วมงานฉลอง 2,500 ปี พุทธชยันตี และได้ปรึกษากับนายกรัฐมนตรีเนห์รู ถึงสถานการณ์ทิเบตที่เลวร้ายลง
เดือนมีนาคม พ.ศ.2502 เกิดการประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ทิเบตที่กรุงลาซา เมืองหลวง ผู้ประท้วงชาวทิเบตจำนวนมากถูกกองทหารจีนจับกุมและสังหาร องค์ดาไลลามะต้องทรงเดินทางลี้ภัยไปอินเดีย โดยมีชาวทิเบตประมาณ 80,000 คน ติดตามพระองค์ไป และนับตั้งแต่ พ.ศ.2502 เป็นต้นมา พระองค์ประทับอยู่ที่เมืองธรรมศาลา รัฐหิมาจัลประเทศ ตอนเหนือของอินเดีย
"องค์ดาไลลามะ" ได้รับการยอมรับจากชาวโลกทั้งตะวันออกและตะวันตก ทรงได้รับการถวายรางวัลและปริญญาบัตรสาขาต่างๆ โดยเฉพาะด้านสันติภาพจำนวนมาก รวมถึงรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ พ.ศ.2532 โดยคณะกรรมการแถลงว่า
“ต้องการเน้นความเป็นจริงที่องค์ดาไลลามะ ได้พยายามต่อสู้อย่างต่อเนื่องและอย่างสันติ เพื่อปลดปล่อยทิเบต ทรงเสนอหนทางแก้ไขปัญหาโดยเน้นเรื่องความอดทนและการเคารพซึ่งกันและกัน เพื่อคุ้มครองมรดกทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของประชาชนทิเบต”