ซันโทรี่ เบเวอเรจ แอนด์ ฟู้ด ประเทศไทย ร่วมกับ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม และ ศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษา (EEC) ผนึกกำลังส่งเสริมความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม อนุรักษ์น้ำ และฟื้นฟูแหล่งทรัพยากรธรรมชาติให้กับเยาวชน เพื่อส่งต่ออนาคตที่ยั่งยืนให้กับคนรุ่นหลัง จัดงานแถลงข่าวเพื่อประกาศความพร้อมในการเดินหน้า “โครงการรักษ์นํ้ามิตซุยกุ” ปีที่ 3 ในวันพุธที่ 5 เมษายน 2566 ณ 101 ทรูดิจิทัล พาร์ค
ในงานแถลงข่าว สมศักดิ์ สรรพโกศลกุล อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวง ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม และ ณัฏฐณิชา วรวรรณเศรษฐ์ รองประธานอาวุโสฝ่ายสนับสนุนการบริหารงานในองค์กร ซันโทรี่ เบเวอเรจ แอนด์ ฟู้ด ประเทศไทยและอินโดไชน่า ร่วมกันกล่าวเปิดงาน โดยอธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมยังได้เปิดเผยความมุ่งมั่นต่อธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมในการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพนํ้า เพื่อรักษาแหล่งนํ้าให้สะอาด และมีอย่างพอเพียงสำหรับคนรุ่นหลัง ร่วมกับ มธุวลี สถิตยุทธการ ผู้อำนวยการฝ่ายรัฐกิจและองค์กรสัมพันธ์ ซันโทรี่ เบเวอเรจ แอนด์ ฟู้ด ประเทศไทยและอินโด ไชน่า และ อเล็กซานเดอร์ ไซมอน เรนเดลล์ ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษา หรือ Environmental Education Centre (EEC)
สมศักดิ์ สรรพโกศลกุล อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้กล่าวถึงบทบาทของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับการบริหารจัดการน้ำในประเทศไทย เพื่อให้เกิดความสมดุลและยั่งยืนว่า
“น้ำเป็นทรัพยากรสำคัญที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ และในปีนี้ องค์การ สหประชาชาติได้ขับเคลื่อนพันธกิจตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) โดยทรัพยากรน้ำเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญ ที่มีการสร้างหลักประกันว่าจะมีการจัดให้มีน้ำและสุขอนามัยสำหรับทุกคน และมีการบริหารจัดการที่ยั่งยืน
“การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เป็นหนึ่งในความมุ่งมั่นของภาครัฐ ที่จะดำเนินการพัฒนา บริหารจัดการ บำรุงรักษา ปรับปรุง ฟื้นฟู และอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ซึ่งมีภารกิจในการส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศอย่างยั่งยืน เป็นหนึ่งในองค์กรของภาครัฐที่ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในทุกมิติ เพื่อให้เกิดความสมดุลและยั่งยืน”
ทั้งยังได้กล่าวถึงการร่วมงานกับพันธมิตรในโครงการรักษ์น้ำมิตซุยกุว่า “ต้องขอขอบคุณหน่วยงานภาคเอกชน ทั้งซันโทรี่ เบเวอเรจ แอนด์ ฟู้ด ประเทศไทย และศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษา ที่ได้สร้างสรรค์กิจกรรมเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ และเข้ามามีส่วนร่วมกับภาครัฐ ด้วยการนำองค์ความรู้มาสร้างกระบวนการเรียนรู้กับเด็กนักเรียนโรงเรียนอีโคสคูล (Eco-School) และเครือข่ายด้านสิ่งแวดล้อมของ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม
“โรงเรียนอีโคสคูล (Eco-School) หรือชื่ออย่างเป็นทางการคือ โรงเรียนสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการ พัฒนาที่ยั่งยืน คือโรงเรียนที่มีการพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ เพื่อสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้ที่ส่งเสริม และพัฒนานักเรียนให้เติบโตขึ้นเป็นพลเมืองที่มีความรับผิดชอบ ตระหนักต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาของท้องถิ่น มีความรู้ ความเข้าใจ อันเป็นผลจากการเรียนรู้และลงมือปฏิบัติจริง พร้อมที่จะเข้าไปมีบทบาทในการป้องกัน ฟื้นฟู รักษา และใช้ประโยชน์จากสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ซึ่งปัจจุบันเรามีโรงเรียนอีโคสคูล (Eco-School) และเครือข่ายด้านสิ่งแวดล้อมของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมมากกว่า 517 แห่ง ทั่วประเทศ ที่จะช่วยปลูกฝังความเป็นพลเมืองสิ่งแวดล้อม โดยใช้กระบวนการสิ่งแวดล้อมศึกษาเป็นเครื่องมือในการจัดการเรียนรู้
“โครงการค่ายรักษ์น้ำมิตซุยกุ ซึ่งได้เข้ามาเสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับเยาวชนจากโรงเรียนอีโคสคูล(Eco-School) และเครือข่ายด้านสิ่งแวดล้อมของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม จะทำให้เยาวชนได้รับองค์ความรู้จากประสบการณ์จริงในห้องเรียนธรรมชาติ มีความเข้าใจเรื่องน้ำอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น เมื่อบวกรวมกับประสบการณ์ที่ได้รับจากกระบวนการเรียนรู้ในโรงเรียน จะทำให้เยาวชนเกิดมุมมองและทักษะที่รอบด้าน มองเห็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาและปกป้องดูแลทรัพยากรน้ำในบ้านเกิดของตนเอง พัฒนาศักยภาพของตนเองไปสู่การเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง เพื่อขับเคลื่อนการอนุรักษ์น้ำและทรัพยากรสิ่งแวดล้อมจากระดับจังหวัดสู่ระดับประเทศ”
“โครงการรักษ์นํ้ามิตซุยกุ” คือหนึ่งในโครงการด้านสิ่งแวดล้อม ที่ซันโทรี่ เบเวอเรจ แอนด์ ฟู้ด ประเทศไทย ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องทุกปีตั้งแต่ปี 2564 เพื่อสร้างความตระหนักรู้และส่งต่อองค์ความรู้ในการอนุรักษ์แหล่งน้ำและทรัพยากรธรรมชาติ โดย “โครงการรักษ์น้ำมิตซุยกุ” ปีที่ 3 ในปีนี้ เป็นการขยายโครงการรักษ์น้ำ ต้นแบบกระบวนการเรียนรู้จากระดับจังหวัดสู่ระดับประเทศ เพื่อจุดประกาย ความเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Agent) ให้กับเยาวชน โดยมีครูเป็นผู้ส่งต่อและสร้างแรงบันดาลใจ
ณัฏฐณิชา วรวรรณเศรษฐ์ รองประธานอาวุโสฝ่ายสนับสนุนการบริหารงานในองค์กร ซันโทรี่ เบเวอเรจ แอนด์ ฟู้ด ประเทศไทยและอินโดไชน่า กล่าวว่า “น้ำเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต และซันโทรี่ เบเวอเรจ แอนด์ ฟู้ด ได้ให้ความสำคัญกับการดูแลและอนุรักษ์น้ำมาโดยตลอด เป็นการสะท้อนความมุ่งมั่นต่อคำสัญญา ‘To inspire the brilliance of life, by creating rich experiences for people, in harmony with nature.’ หรือในภาษาไทยว่า ‘เพื่อบันดาลให้เกิดความล้ำเลิศของชีวิต ด้วยการสร้างประสบการณ์อันล้ำค่าให้กับผู้คนอย่างสอดประสานกับธรรมชาติ’ ของซันโทรี่ กรุ๊ป ที่ได้สนับสนุนโครงการเกี่ยวกับน้ำในระดับสากล รวมถึงกิจกรรมอนุรักษ์และฟื้นฟูธรรมชาติ โดยยึดหลักปรัชญาว่าด้วยการรักษาน้ำให้ยั่งยืน ภายใต้แนวคิด ‘Growing for Good’ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน
“ในปี 2564 ซึ่งเป็นปีเริ่มต้น โครงการรักษ์น้ำมิตซุยกุ ดำเนินงานภายใต้แนวคิด ‘ช่วยน้ำ ช่วยโลก’ โดยทำงานร่วมกับศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษา (EEC) พาเด็กๆ ในพื้นที่ของจังหวัดภูเก็ต ไปเรียนรู้เรื่องราวของน้ำและการอนุรักษ์แหล่งน้ำผ่านห้องเรียนธรรมชาติที่ทะเลภูเก็ต เพื่อให้เกิดความตระหนักถึงความสำคัญของแหล่งน้ำในบ้านเกิด
“ต่อมาในปี 2565 ได้ดำเนินงานภายใต้แนวคิด ‘คืนสมดุลให้น้ำ คืนสมดุลให้โลก’ ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันกับศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษา และสถาบันการเรียนรู้ของคนทุกวัยจังหวัดระยอง (RILA) เพื่อปลูกฝังให้เยาวชนเห็นถึงประโยชน์และความสำคัญของน้ำ ผ่านการจุดประกายคุณครูให้ตระหนักถึงปัญหาและความสำคัญของน้ำ นำไปสู่การออกแบบห้องเรียนสิ่งแวดล้อมและส่งต่อองค์ความรู้และแรงบันดาลใจให้เกิดขึ้นกับเด็กนักเรียน
“และในปี 2566 ซึ่งเป็นปีที่ 3 ของโครงการรักษ์น้ำมิตซุยกุ ซันโทรี่ เบเวอเรจ แอนด์ ฟู้ด ประเทศไทย ร่วมกับศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษา และกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้สานต่อกิจกรรมจากปีที่ผ่านมา สู่การดำเนินงานภายใต้แนวคิด ‘รักษ์น้ำ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน’ โดยทำงานร่วมกับโรงเรียนในโครงการอีโคสคูล (Eco-School) และเครือข่ายด้านสิ่งแวดล้อมของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อขยายโครงการรักษ์น้ำ ต้นแบบกระบวนการเรียนรู้จากระดับจังหวัดสู่ระดับประเทศ ปลุกพลังและจิตวิญญาณความเป็นครู ผู้ส่งต่อและสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชน และจุดประกายความเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Agent) สร้างพลเมืองเพื่อสิ่งแวดล้อม พร้อมขับเคลื่อนการอนุรักษ์น้ำและทรัพยากรสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนในบ้านเกิด สู่ระดับประเทศ”
มธุวลี สถิตยุทธการ ผู้อำนวยการฝ่ายรัฐกิจและองค์กรสัมพันธ์ ซันโทรี่ เบเวอเรจ แอนด์ ฟู้ด ประเทศไทยและอินโดไชน่า กล่าวว่า “หนึ่งในพันธกิจของ ซันโทรี่ เบเวอเรจ แอนด์ ฟู้ด คือความ รับผิดชอบต่อสังคมและธรรมชาติ เราจึงมีความมุ่งมั่นในการร่วมสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับสังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน ซึ่งโครงการรักษ์น้ำมิตซุยกุ เกิดจากความต้องการส่งเสริมและให้ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม และฟื้นฟูแหล่งทรัพยากรธรรมชาติให้กับเยาวชน โดยเฉพาะเรื่องน้ำซึ่งมีความสำคัญต่อระบบนิเวศและการดำเนินชีวิต เพื่อตอกย้ำปรัชญาของซันโทรี่
“ในปีนี้ ซันโทรี่ เบเวอเรจ แอนด์ ฟู้ด ประเทศไทย สานต่อโครงการจากปีที่ผ่านมา โดยทำงานร่วมกับศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษา และกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อขยายผลของโครงการรักษ์น้ำ ต้นแบบกระบวนการเรียนรู้จากระดับจังหวัดสู่ระดับประเทศ ใน 4 จังหวัด 4 ภูมิภาค ซึ่งแบ่งออกเป็นพื้นที่ต้นน้ำ จังหวัดเชียงราย พื้นที่กลางน้ำ จังหวัดอุบลราชธานี พื้นที่ปลายน้ำ จังหวัดฉะเชิงเทรา และพื้นที่ทะเล ในจังหวัดกระบี่
“โดยมีแผนดำเนินงาน 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 รับสมัครครูจากโรงเรียนอีโคสคูล (Eco-School) และเครือข่ายด้านสิ่งแวดล้อมของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมทั้ง 4 จังหวัด ที่มีความสนใจด้านสิ่งแวดล้อม และเป็นผู้ขับเคลื่อนการศึกษา เพื่อปลุกปั้นเยาวชนให้ก้าวเข้าสู่การเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง เพื่อดูแลน้ำและสิ่งแวดล้อม และปกป้องบ้านเกิด โดยครู 1 คน จะมีน้อง ๆ เยาวชนอีก 4 คน เข้าร่วมทีม และเมื่อผ่านการคัดเลือกจะได้เข้าร่วมทำกิจกรรมในค่ายรักษ์น้ำ ซึ่งจะเกิดขึ้นในแผนดำเนินงานระยะที่ 2
“กิจกรรมค่ายรักษ์น้ำ เป็นกระบวนการสิ่งแวดล้อมศึกษาผ่านห้องเรียนธรรมชาติ ซึ่งจะจัดขึ้นใน 4 จังหวัดเป้าหมาย โดยมีผู้เข้าร่วมเป็นทีมครูและนักเรียนที่ได้รับการคัดเลือกจังหวัดละ 6 กลุ่ม กิจกรรมในค่ายรักษ์น้ำได้รับการออกแบบโดยศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษา อาทิ กิจกรรมสำรวจและศึกษาความสำคัญของพื้นที่และวิถีของคนที่อยู่ร่วมกับป่า ผจญภัยตามรอย ‘ตาน้ำ’ ผลผลิตจากป่า และจุดเริ่มต้นของคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้คน ฟังเรื่องเล่าจากผู้พิทักษ์ป่า และจัดทำผลงานเป็นคลิปวิดีโอที่แสดงให้เห็นการต่อยอดหรือนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการดูแลสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นของตนเอง
“จากนั้นจะเข้าสู่แผนการดำเนินงานระยะที่ 3 สร้างฐานการเรียนรู้ของชุมชนพลเมืองสิ่งแวดล้อม และการต่อยอดของผู้นำการเปลี่ยนแปลง ผ่านเวทีนำเสนอผลงาน เพื่อให้เพื่อนๆ ในโครงการ ทั้งที่ได้เข้าร่วมและไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมค่ายรักษ์น้ำได้เข้าฟัง และคลิปวิดีโอที่เป็นผลงานจะถูกนำไปแชร์ในช่องทางการสื่อสารต่างๆ ของโครงการ”
อเล็กซานเดอร์ ไซมอน เรนเดลล์ ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษา (EEC) กล่าวว่า “ศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษาเน้นการทำงานกับกลุ่มเยาวชนในพื้นที่ทั่วภูมิภาค เพราะเยาวชนคืออนาคตของประเทศ และอนาคตของประเทศจะอยู่ในมือของคนกลุ่มนี้ โดยเฉพาะในเรื่องสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ ในกิจกรรมค่ายรักษ์น้ำเราได้สร้างกระบวนการเรียนรู้เรื่องน้ำที่เชื่อมต่อกับทุกๆ ภูมิภาคของประเทศ เพื่อให้เยาวชนได้มีความเข้าใจว่าการดำรงชีวิตของตัวเองสร้างผลกระทบอะไรให้กับต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ และทะเลบ้าง เป็นการกระตุ้นการดูแลสิ่งแวดล้อมระดับชาติในสังคมของเยาวชน
“สิ่งที่พิเศษของโครงการรักษ์น้ำมิตซุยกุในปีนี้ คือเป็นโครงการระยะยาวตลอดปีที่ได้ทำกับเยาวชนในพื้นที่ การได้เข้าร่วมกับภาครัฐอย่างกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทำให้เราได้เยาวชนที่มาจากโรงเรียนอีโคสคูล (Eco-School) และเครือข่ายด้านสิ่งแวดล้อมของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นกลุ่มเด็กที่มีพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว ทำให้ง่ายขึ้นในการเพิ่มเติมองค์ความรู้เรื่องน้ำผ่านห้องเรียนธรรมชาติ โดยต่อยอดจากสิ่งที่ภาครัฐได้ทำมา เป็นความหวังที่จะได้เห็นเยาวชนกลุ่มนี้เติบโตมาเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมในอนาคต
“ซึ่งการได้รวมตัวกับภาครัฐและเอกชน ทำให้มีพลังและมีการสนับสนุนอย่างทั่วถึง โครงการในปีนี้จึงมีโอกาสสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่เป็นประโยชน์ให้กับผู้เข้าร่วมได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ การได้พาเยาวชนจากโรงเรียนในแต่ละภูมิภาคไปเรียนรู้ในห้องเรียนธรรมชาติในพื้นที่ จะทำให้เขาได้เห็นความสำคัญของธรรมชาติในสถานที่จริงของจังหวัดตนเอง ซึ่งการรวมตัวของหลายโรงเรียนที่มารวมตัวกันเป็นหนึ่ง จะทำให้องค์ความรู้ถูกส่งต่อและกระจายออกไป ได้แบ่งปันความรู้กับภาคอื่นๆ และนำองค์ความรู้เกี่ยวกับน้ำจากการเข้าค่ายไปถ่ายทอดเป็นวิดีโอ ส่งต่อให้ทุกคนได้เรียนรู้ร่วมกัน”
ทั้งนี้ โครงการรักษ์น้ำมิตซุยกุได้วางแผนการดำเนินงานโครงการระยะยาวต่อเนื่อง 3 ปี โดยปีแรกคือปี 2566 เป็นจุดเริ่มต้นในการเพาะเมล็ดพันธุ์ ด้วยการสร้างแรงบันดาลใจเรื่องสิ่งแวดล้อมและน้ำในพื้นที่ ปี 2567 คือการขยายเมล็ด ด้วยการเพิ่มจำนวนคน และสร้างการรับรู้ที่เพิ่มขึ้น และปี 2568 เป็นปีแห่งการปลูกเมล็ดพันธุ์ ซึ่งเป็นการนำต้นแบบการเรียนรู้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรโรงเรียนสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือโรงเรียนอีโคสคูล (Eco-School) และสร้างฐานการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมและน้ำออกไปให้กว้างที่สุด เพื่อสร้างพลเมืองสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ และสามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้กับพื้นที่ของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด