กกต.เปิดรับสมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์วันแรก 53 พรรคแห่สมัคร 49 พรรคผ่านเกณฑ์เรียบร้อย ขีดเส้น 7 วัน ตรวจคุณสมบัติผู้สมัคร
เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 66 ที่ศาลาว่าการ กทม. ดินแดง นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงว่า ภายหลังสำนักงาน กกต. เปิดรับสมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ เป็นวันแรก โดยมีพรรคการเมืองรวม 53 พรรค มาสมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ แบ่งเป็นมาก่อนเวลา 08.30 น. จำนวน 49 พรรค และมาหลัง 08.30 น. จำนวน 5 พรรค คือ พรรคพลังปวงชนไทย พรรคไทยก้าวหน้า พรรคสามัญชน พรรคชาติรุ่งเรือง และพรรคพลังสังคม แต่มีการถอนไป 1 พรรค เหลือ 4 พรรค
นายแสวง กล่าวต่อว่า จากการตรวจสอบข้อมูลจนถึงขณะนี้ พรรคการเมืองที่มาสมัครภาคเช้า จำนวน 49 พรรคพบว่า มีคุณสมบัติครบถ้วน และได้หมายเลขที่จะใช้ในการหาเสียงตามเบอร์ที่จับสลากได้ โดยวันนี้อาจมีข้อติดขัดอุปสรรคอยู่บ้าง เนื่องจากสถานที่คับแคบ มีพรรคการเมืองเข้ามาพร้อมกัน 49 พรรค การตรวจเอกสารอาจต้องใช้เวลา มีบางพรรคอาจมีเอกสารไม่สมบูรณ์ แต่พรรคสามารถนำมาแสดงต่อกับคณะที่ใช้ตรวจได้ จึงทำให้ผลการตรวจมี 49 พรรคการเมืองได้เบอร์ตามที่จับสลาก ส่วนภาคบ่ายมีพรรคการเมืองมายื่นรับสมัครไป 5 พรรค ถอนเรื่องไป 1 พรรค เหลือ 4 พรรค เท่ากับว่าตอนนี้มีพรรคที่ยื่นสมัคร และหากเอกสารเรียบร้อย จำนวน 53 พรรคการเมือง
ายแสวง กล่าวอีกว่า ส่วนแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ที่พรรคการเมืองเสนอเป็น มีจำนวน 16 พรรค 20 ราย ในส่วนรายชื่อสำนักงาน กกต. จะทำเอกสารแจกให้อีกครั้งหลังจากนี้ ส่วนเอกสารของบางพรรคการเมืองที่ไม่สมบูรณ์นั้น คือ เอกสารที่พรินต์มาจากคอมพิวเตอร์ โดยพรินต์ในส่วนของลายเซ็นมาด้วย เบื้องต้นพิจารณาแล้วไม่ได้มีปัญหา ทำให้สาระสำคัญของการสมัครเสียไปในเรื่องความถูกต้องตามกฎหมาย เป็นเอกสารจริง เพียงแต่นำตัวสำเนามาเท่านั้น
เมื่อถามถึงการตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรค หากพบว่า มีผู้สมัครที่ขาดคุณสมบัติจะต้องดำเนินการอย่างไร นายแสวง กล่าวว่า กกต. จะใช้เวลาตรวจสอบคุณสมบัติประมาณ 7 วัน โดยหากพบว่าผู้สมัครคนใดขาดคุณสมบัติในการสมัครรับเลือกตั้ง ก็สามารถตัดชื่อออกไปได้ จากบัญชีรายชื่อของพรรค และเลื่อนลำดับบัญชีรายชื่ออื่นขึ้นมาแทน
เมื่อถามว่า กกต. จะมีการตรวจสอบคุณสมบัติผู้ที่เสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ หรือไม่ อย่างไร นายแสวง กล่าวว่า ตามกฎหมายแล้ว ไม่ได้ให้อำนาจ กกต. ในการตรวจสอบคุณสมบัติ ผู้ที่ถูกเสนอชื่อดังกล่าว เนื่องจากคุณสมบัติบางอย่าง เป็นเรื่องที่สามารถกระทำได้ก่อนเข้ารับตำแหน่ง เช่น การถือหุ้น หรือการดำรงตำแหน่งบางตำแหน่งที่สามารถลาออกได้ ก่อนดำรงตำแหน่งนายกฯ เป็นต้น การตรวจสอบคุณสมบัติ จึงไม่สามารถตรวจสอบวันนี้ เพราะยังไม่รู้ว่าจะได้เป็นนายกฯ หรือไม่ หากพบหลังการเลือกตั้งว่า บุคคลที่ถูกเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ เมื่อดำรงตำแหน่งนายกฯ หลังเลือกตั้ง สามารถร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อดำเนินการถอดถอนได้