ตัวแทน 4 พรรคการเมืองยื่น กกต.ประสานกระทรวงการต่างประเทศ อำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งต่างแดน
เมื่อวันที่ 31 มี.ค.66 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตัวแทน ภ พรรคการเมือง ประกอบด้วย นายสุขุมพงศ์ โง่นคำ ตัวแทนพรรคเพื่อไทย นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ และนายสมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานยุทธศาสตร์พรรคเสรีรวมไทย เดินทางยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อขอให้แก้ไขวิธีการเลือกตั้งของคนไทยนอกราชอาณาจักร
นายสมชัย กล่าวว่า คนไทยในต่างแดน มีความสำคัญ และมีสิทธิในการใช้สิทธิครั้งนี้ 1,300,000 คน และคาดว่าจะมีคนที่มีสิทธิเลือกตั้งประมาณ 1 ล้านคน กระทรวงการต่างประเทศเคยระบุว่า การเลือกตั้งปี 62 มีคนใช้สิทธิประมาณ 100,000 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงที่สุด แต่เชื่อว่าจะสูงมากกว่านี้ได้ ถ้าหาก กกต.และกระทรวงการต่างประเทศมีความตั้งใจและจริงใจในการที่จะอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ในการมาใช้สิทธิ ทั้งการขึ้นทะเบียนของคนใช้สิทธิ ต้องทำให้ง่ายและสะดวกกับประชาชนที่จะเข้าถึงโดยรูปแบบการใช้สิทธิ ตามกฎหมายกำหนดไว้ มี 3 แบบ คือ 1.จัดการเลือกตั้งที่สถานทูต 2.จัดที่หน่วยเลือกตั้งเคลื่อนที่ และ 3.คือการเลือกตั้งทางไปรษณีย์ ซึ่งทั้ง 3 รูปแบบนี้ ทาง กกต.และกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ใช้มาตลอด และรูปแบบที่ทำให้คนใช้สิทธิมากที่สุดคือทางไปรษณีย์ รูปแบบที่ควรใช้สิทธิ์น้อยที่สุดคือที่สถานทูต เพราะต้องเดินทางมาใช้สิทธิที่สถานทูตก็ต้องเสียเวลาเสียค่าใช้จ่ายและไม่สะดวก ดังนั้น การออกประกาศของสถานทูตต่างๆ ในต่างประเทศ มีหลายประเทศที่ยกเลิกการเลือกตั้งทางไปรษณีย์ เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ จอร์แดน อียิปต์ เบลเยียม และเนเธอร์แลนด์ เป็นต้น เป็นการทำให้ประชาชนเข้าถึงการเลือกตั้งได้ยาก นอกจากนี้ต่างประเทศยังกำหนดวันเลือกตั้งที่สถานทูตเป็นวันราชการ ซึ่งการใช้สิทธิในวันทำงาน เป็นการจำกัดให้ประชาชนไม่สามารถมาใช้สิทธิได้ เพราะอาจจะต้องเสียเวลาทำงาน เกิดความยากลำบากยิ่งขึ้น
ส่วนประเทศไหนที่ยังมีการเปิดใช้สิทธิทางไปรษณีย์ได้นั้น ก็กำหนดการปิดรับเอกสารจากประชาชนเร็วเกินไป ซึ่งจะกำหนดการบัตรเลือกตั้งจะจัดส่งถึงสถานทูตวันที่ 22 เม.ย. แล้วสถานทูตให้ประชาชนส่งบัตรเลือกตั้งคืนวันที่ 28 เม.ย. นั้นเร็วเกินไป ดังนั้น จึงขอให้กกต. ประสานกับกระทรวงการต่างประเทศ ขอให้สถานทูตและสถานกงสุลทุกแห่ง ใช้วิธีการเลือกตั้งทางไปรษณีย์เป็นวิธีการหลัก และให้ใช้สิทธิที่สถานทูตเป็นวิธีการเสริม หากต้องการที่จะจัดให้มีการเลือกตั้งที่สถานทูตก็ขอให้ใช้วันหยุดในการจัดการเลือกตั้ง ขอให้มีการปรับเปลี่ยนกำหนดการ ระยะเวลาส่งบัตรเลือกตั้งมาถึงสถานทูตไม่เร็วจนเกินไป อาจจะขยายไปถึงวันที่ 4 พ.ค. ก็ยังทัน และสถานทูตมีเวลาเพียงพอที่จะส่งกลับมายังประเทศไทย
นอกจากนี้ หากสถานทูตไหนที่มีความพร้อมนับคะแนนก็สามารถทำที่สถานทูตได้ เพราะ พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่แก้ไขใหม่ ได้เขียนไว้ชัดเจนว่าเปิดโอกาสให้สถานทูตสามารถนับคะแนนที่สถานทูตได้โดยมีสักขีพยานเป็นคนไทย จะทำให้ระยะเวลาการใช้สิทธิเพิ่มมากขึ้น แก้ไขการส่งบัตรกลับไทยไม่ตรงเวลา เอารายละเอียดของคนไทยในต่างประเทศลงในเว็บไซต์ เพื่อที่จะได้ตรวจสอบได้ง่าย ซึ่งข้อเรียกร้องดังกล่าวสามารถปรับเปลี่ยนได้ทันเวลาแน่นอน ยกตัวอย่างสถานทูตไทยในเบลเยี่ยม ที่เดิมกำหนดให้เลือกวันอังคาร แต่ได้มีการปรับเปลี่ยนทันที โดยเปลี่ยนเป็นวันอาทิตย์ และเพิ่มรูปแบบทางไปรษณีย์
ด้าน พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่าเรื่องการเลือกตั้งนอกราชครั้งนี้ ในส่วนประเทศที่มีมุสลิม อย่างประเทศมาเลเซีย มีคนไทยไปประกอบธุรกิจร้านอาหาร และลูกจ้างจำนวนมาก สถานทูตมาเลเซียการกำหนดให้มีวันเลือกตั้งในช่วงที่เป็นวันฮารีรายอ ซึ่งในวันนั้นคนไทยจะกลับบ้านกันมาก ดูเหมือนเป็นการกลั่นแกล้งปิดกันการใช้สิทธิ จึงขอเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งทางไปรษณีย์ ขอให้เลื่อนวันเลือกตั้งเป็นวันหยุด ในขณะที่สถานทูตประเทศอียิปต์ ให้คนไปใช้สิทธิที่สถานทูต ซึ่งประเทศอียิปต์ใหญ่มาก ประชาชนต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายทำให้ไม่สะดวกในการไปใช้สิทธิ อย่างไรก็ตาม 1 เสียง 1 สิทธิ เป็นโอกาสเดียวที่ทำให้คนรวย คนจน เท่ากัน ตนอยากให้ 1 สิทธิ 1 เสียงของประชาชนมีเกียรติยศ และสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่ประชาชนต้องการได้
ขณะที่ นายชัยธวัช กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ประชาชนคาดหวังสูงมาก นับวันยิ่งใกล้วันเลือกตั้งเท่าไหร่ประชาชนยิ่งไม่เชื่อมั่นมากขึ้นว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะดำเนินการไปอย่างเสรี และเป็นธรรมได้จริงๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร การพิมพ์บัตรเลือกตั้ง การรายงานผลการเลือกตั้งแบบเรียลไทม์ วันนี้ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะไปยังไง จึงตั้งข้อสังเกตว่ามีตั้งใจที่จะเอื้อประโยชน์ให้กับผู้มีอำนาจคนใดคนหนึ่งหรือไม่ เมื่อปี 62 คนไทยนอกราชอาณาจักรที่ใช้สิทธิเลือกตั้งเลือกพรรคประชาธิปไตยมาก จึงปิดกั้นการใช้สิทธิในปีนี้เพื่อเอื้อใครหรือไม่ ส่วนเรื่องบัตรเลือกตั้ง ทราบมาว่า กกต.จะใช้การพิมพ์แบบโหล มีแค่หมายเลข ไม่มีชื่อผู้สมัครและพรรค ทั้ง 400 เขต ทำให้อาจเกิดความสับสน อาจทำให้เกิดบัตรเขย่ง และอาจจะทำให้เกิดการไม่สุจริตในการเลือกตั้งหรือไม่ เพราะอาจมีการสวมสิทธิใช้บัตร หรือคัดลอกได้ง่าย ฉะนั้นบัตรเลือกตั้ง 400 เขต 400 แบบไม่ใช่เรื่องที่ยาก และสามารถทำได้ สุดท้าย กกต.จะมีการรายงานผลแบบเรียลไทม์ไม่เป็นทางการหรือไม่ เพราะขณะนี้รูปแบบก็ยังไม่ชัดเจน
นายสุขุมพงศ์ กล่าวว่า ข้อเสนอที่นำมาเสนอต่อ กกต.วันนี้ กกต.สามารถนำไปปรับปรุงได้เลย และเชื่อว่าจะแก้ไขได้ทันเวลา เพื่อให้ประชาชนไทยที่อยู่ต่างแดนได้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ขอย่าให้เกิดความผิดที่เคยเกิดขึ้นเมือปี 62 เกิดขึ้นอีก