กมธ.หนุนแก้ ก.ม.เพิ่มโทษล่าสัตว์ป่าสงวน

2018-02-12 16:40:09

กมธ.หนุนแก้ ก.ม.เพิ่มโทษล่าสัตว์ป่าสงวน

Advertisement

คณะกรรมาธิการการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แถลงให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการรักษากฎหมายห้ามล่าสัตว์ป่าสงวน เตรียมหารือปรับแก้กฎหมายเพิ่มโทษให้แรงขึ้น

 

เมื่อวันที่ 12 ก.พ. พล.ท.ชัยยุทธ พร้อมสุข ประธานคณะกรรมาธิการการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แถลงว่า สืบเนื่องจากกรณีมีกลุ่มบุคคลพร้อมด้วยอาวุธเข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก เข้าไปพักแรมบริเวณพื้นที่หวงห้าม และคุกคามชีวิตสัตว์ป่า ซึ่งเป็นการละเมิด พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535โดยการกระทำดังกล่าว ถือได้ว่ากระทำผิดหลายฐานความผิด ซึ่งเหตุการณ์และบุคคลที่เกี่ยวข้องจะต้องเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายต่อไป พร้อมกันนี้คณะกรรมาธิการฯ ได้ขอให้กำลังใจทุกฝ่ายในการรักษากฎหมาย ให้มีความมั่นใจในการปฏิบัติงาน


พล.ท.ชัยยุทธ กล่าวต่อว่า ในสัปดาห์หน้าทางคณะกรรมาธิการฯเตรียมเชิญอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชมาหารือพร้อมทั้งแสดงความขอบคุณและให้กำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ ส่วนจะมีการเรียกเจ้าหน้าที่คนใดมาตรวจสอบเพื่อเอาผิดหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับพยานหลักฐาน อย่างไรก็ดี ในฐานะที่คณะกรรมาธิการฯรับผิดชอบงานด้านกฎหมาย ก็จะพิจารณาตามกรอบงานของกฎหมายว่า ครอบคลุมการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในระดับปฏิบัติหรือไม่ ส่วนกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันความผิดที่เกิดจากการล่าสัตว์ยังน้อยเกินไปนั้น ขณะนี้กำลังพิจารณาในการเพิ่มโทษ โดยแยกประเภทเป็นสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครอง ซึ่งสัตว์ป่าสงวนจะมีโทษที่รุนแรงและไม่สามารถกระทำการใดๆ กับสัตว์ป่าสงวนที่มีอยู่ได้ เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยมีสัตว์ป่าสงวนเหลืออยู่เพียงน้อยนิด ซึ่งหากการกำหนดโทษยังไม่เหมาะสม กับกรณีที่มีผู้กระทำความผิด ก็จะเสนอให้มีการแก้ไขร่างกฎหมายต่อไป


ด้าน นายสนิท อักษรแก้ว หนึ่งในคณะกรรมาธิการฯ ได้กล่าวว่า บทลงโทษมีการกำหนดโทษไว้ค่อนข้างเบาเช่น ปรับ 50,000 บาท และจำคุกไม่เกิน 10 ปี ซึ่งหากมีการนำเสนอร่างแก้ไขกฎหมายเข้ามายัง สนช. ก็จะมีการเพิ่มอัตราโทษ โดยเฉพาะการเพิ่มโทษของการล่าสัตว์ป่าสงวนอาจต้องเพิ่มโทษถึงขั้นรุนแรง โดยให้มีโทษทางอาญาร่วมด้วยสำหรับผู้กระทำผิด เช่น การจำคุกตั้งแต่ 10 ปี ถึง 20 ปี เนื่องจากกลุ่มผู้กระทำผิดบางครั้งเป็นกลุ่มนายทุนหรือกลุ่มผู้มีอิทธิพลที่อาจไม่เกรงกลัวกฎหมาย
สำหรับความคืบหน้าการแก้ไขกฎหมายขณะนี้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อยู่ระหว่างการร่างกฎหมายเพื่อนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม.จากนั้นก็จะนำเข้าสู่ สนช.เพื่อพิจารณาต่อไป