โรคใหลตาย ภัยอันตรายที่ไม่รู้ตัว

2023-03-15 10:48:37

โรคใหลตาย ภัยอันตรายที่ไม่รู้ตัว

Advertisement

โรคใหลตาย ภัยอันตรายที่ไม่รู้ตัว

โรคใหลตาย การเสียชีวิตอย่างเฉียบพลันโดยไม่มีสัญญาณแจ้งเตือนล่วงหน้า ซึ่งจะพบมากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีความเชื่อว่า โรคใหลตาย เป็นเรื่องเกี่ยวกับทางไสยศาสตร์ แต่ในความเป็นจริงแล้วใหลตายเป็นเพียงภาวะผิดปกติของร่างกายอย่างหนึ่งที่ในทางการแพทย์เรียกว่า “ภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน” โดยสาเหตุหลักเกิดจากพันธุกรรม

ปัจจัยที่ทำให้คนที่มีพันธุกรรมนี้มีอาการผิดปกติและมีโอกาสเสียชีวิตกะทันหัน ได้แก่

-มีไข้สูง

-ขาดโพแทสเซียมซึ่งเป็นเกลือแร่ที่ได้จากผักผลไม้

-ใช้สารเสพติด

-ใช้ยาบางตัวที่ส่งผลต่อการเต้นของหัวใจ เช่น ยารักษาโรคซึมเศร้า หรือสารสกัดจากกัญชา

สาเหตุโรคใหลตาย

-เกิดจากพันธุกรรมสำหรับผู้ป่วยที่มีคนในครอบครัวหรือญาติที่สืบสายเลือดเดียวกันเสียชีวิตกะทันหัน โดยไม่ทราบสาเหตุ

-เกิดจากการใช้สารเสพติดหรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สะสมเป็นเวลานาน

-เกิดจากร่างกายขาดแร่โพแทสเซียม ที่ได้มาจากการรับประทานผัก และผลไม้ โดยการที่แร่โพแทสเซียมจะเข้าไปปรับสมดุลน้ำในร่างกายเพื่อทำให้การเต้นของหัวใจเป็นปกติ

วิธีการป้องกันโรคใหลตาย

แม้ว่าโรคใหลตายในทางการแพทย์ยังไม่สามารถมีวิธีการที่รักษาให้หายขาดได้แต่ยังสามารถตรวจคัดกรองโรคเบื้องต้นและหาวิธีป้องกันได้ ดังนี้

-หากทางครอบครัวหรือญาติมีประวัติเสียชีวิตอย่างเฉียบพลันโดยไม่ทราบสาเหตุ ต้องเข้ารับการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เพื่อสืบหาความผิดปกติที่อาจเสี่ยงเป็นโรคไหลตายได้

-เมื่อตรวจร่างกายเบื้องต้นพบว่ามีโอกาสที่จะเสี่ยงเป็นโรคไหลตาย ควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และยาบางชนิดที่อาจส่งผลให้คลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ เช่น ยานอนหลับ ยาคลายเครียด ยาโคเคน เป็นต้น

-ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงในการเสียชีวิตสูงจากโรคใหลตาย อาจต้องมีการใส่เครื่องกระตุกหัวใจเพื่อเฝ้าระวังจังหวะการเต้นของหัวใจอยู่ตลอดเวลา

วิธีการช่วยเหลือผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะใหลตาย

หากพบผู้ป่วยหรือตกอยู่ในสถานการณ์ที่อยู่กับผู้ป่วยภาวะใหลตาย การช่วยเหลือเบื้องต้นระหว่างรอรถพยาบาล ให้จับผู้ป่วยนอนราบ และสังเกตอาการผู้ป่วยหากพบว่าไม่หายใจหรือชีพจรที่คอไม่เต้น ให้กดหน้าอกยุบลงราว 1.5 นิ้ว แล้วปล่อยให้คลายตัวเป็นชุด ในความถี่ราว 100 ครั้งต่อนาที โดยไม่หยุดจนกว่าจะถึงมือแพทย์หรือจนกว่าผู้ป่วยจะรู้ตัว สิ่งที่ไม่ควรทำเมื่อช่วยเหลือผู้ป่วยภาวะไหลตาย คือ งัดปากคนไข้ด้วยของแข็งเพราะอาจเป็นอันตราย เนื่องจากคนที่เป็นโรคใหลตายอาจจะมีโรคอื่นของสมอง เช่น ลมชัก โรคหัวใจ ที่อาจเป็นเหตุให้หมดสติได้เช่นกัน

โรคใหลตาย ในปัจจุบันนี้ได้กลายเป็นภัยเงียบที่พร้อมคร่าชีวิตของใครหลายคนโดยที่ไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้า และวิธีการรักษาโรคนี้ยังคงเป็นไปตามระดับความรุนแรงเท่านั้น ยังไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาดได้ ซึ่งหากเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงจำเป็นต้องเข้าพบแพทย์เพื่อรักษาต่อไป

รศ.พญ.สิรินทร์ อภิญาสวัสดิ์

สาขาวิชาโรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์

คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล