กทพ. แจงต่อสัญญาสัมปทานทางด่วนปฏิบัติตาม ก.ม.

2023-02-15 17:16:56

กทพ. แจงต่อสัญญาสัมปทานทางด่วนปฏิบัติตาม ก.ม.

Advertisement

ผู้ว่าการ กทพ. แจงปม "ทวี" อภิปรายต่อสัญญาสัมปทานทางด่วน ยันปฏิบัติตาม ก.ม. ยึดหลักธรรมาภิบาล

เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 15 ก.พ. 66  ที่รัฐสภา นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายทะเบียนพรรคภูมิใจไทย (ภท.)  พร้อมด้วยนายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) แถลงกรณีที่พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ เลขาธิการพรรคประชาชาติ อภิปรายประเด็นการต่อสัญญาสัมปทานขั้นที่ 2 และทางพิเศษสายบางปะอิน – ปากเกร็ด โดยนายสุรเชษฐ์ ชี้แจงใน 3 ประเด็น คือ 1.มูลค่าหนี้ที่ พ.ต.อ.ทวี ระบุว่า มูลค่าหนี้ตามข้อพิพาททั้งหมด มีมูลค่าประมาณ 3 แสนล้านบาทนั้น กทพ. ขอให้ข้อมูลว่า มูลค่าหนี้ตามข้อพิพาททั้งหมด มีมูลค่า 1.37 แสนล้านบาท ซึ่งต้องเป็นกรณีที่หากแพ้คดีกับ BEM และเนื่องจากได้มีการเจรจาต่อรองแล้ว ทำให้มูลหนี้ทั้งหมดจะมีมูลค่า 7.8 หมื่นล้านบาท ไม่ใช่ 3 แสนล้านบาท ตามที่มีการกล่าวอ้าง 2.กรณีที่มีการอภิปรายว่า การรับสภาพหนี้ดังกล่าว ทำให้ กทพ.มีหนี้เพิ่มจนทำให้ฐานะทางการเงินติดลบเป็นจำนวนมาก จากกำไร 6,000 ล้านบาท เป็นขาดทุน 65,000 ล้านบาท ทาง กทพ. ขอชี้แจงข้อเท็จจริงว่า ในปี 63 ที่พบว่า กทพ. ขาดทุน 65,000 ล้านบาท เป็นตัวเลขขาดทุนทางบัญชีเท่านั้น ซึ่งสถานะทางการเงินในภาพรวมที่แท้จริงยังมีความแข็งแกร่ง มีผลประกอบการที่กำไรทุกปี และนำเงินส่งรัฐปีละประมาณ 3,000 – 4,000 ล้านบาท มาอย่างต่อเนื่อง

นายสุรเชษฐ์ กล่าวต่อว่า 3.ส่วนที่มีการอภิปรายว่า การขยายสัญญาตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) มิชอบตามกฎหมาย และคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครอง ทาง กทพ.ยืนยันว่า ได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด โดยคำนึงถึงความเป็นธรรมทั้งกับประชาชนผู้ใช้บริการ และเอกชนผู้ร่วมลงทุน ทั้งนี้ กทพ. ขอยืนยันว่า บริหารงานโดยยึดประโยชนสูงสุดของประชาชน และภาครัฐ รวมถึงความถูกต้องตามกฎหมาย และหลักธรรมาภิบาล

ก่อนหน้านี้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ เลขาธิการพรรคประชาชาติ อภิปรายกรณีที่ ครม. มีมติเมื่อวันที่ 18 ก.พ. 63 ปรับแก้ร่างสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ทางพิเศษศรีรัช รวมถึงส่วน D) และสัญญาโครงการทางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ด (ทางพิเศษอุดรรัถยา) เพื่อระงับข้อพิพาทสัมปทานทางด่วน ระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีอีเอ็ม ที่อยู่ระหว่างฟ้องร้องกันว่า การต่อสัญญาดังกล่าว เป็นการปล้นสาธารณสมบัติแผ่นดิน ขโมยเงินหลวง รีดเอาทรัพย์จากประชาชน จากข้อพิพาท 17 คดี ที่เอกชนยื่นฟ้อง มีคดีเดียว มูลค่า 1,790 ล้านบาท ซึ่งชนะคดี บวกกับดอกเบี้ย 4,318 ล้านบาท เท่ากับเรื่องนี้ ครม. ได้นำทรัพย์สินมูลค่าแสนล้านบาท ไปยินยอม ประนีประนอม และยังทำให้โครงการทางด่วนที่กำลังจะครบสัญญา และจะตกเป็นสาธารณสมบัติของประเทศและประชาชน ต้องขยายเวลาไปอีก 15 ปี 8 เดือน ถือว่าส่งผลกระทบโดยตรงต่อประโยชน์ส่วนรวม