อดีต รมว.คลังสอนมวยรัฐบาลเลิกกู้เงินมาแจก ลดหนี้สินครัวเรือน เอสเอ็มอี ทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตสูงขึ้น 6-7%
เมื่อวันที่ 13 ก.พ.66 ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจมหภาค อดีต รมว.คลัง และอดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การบริหารเศรษฐกิจที่ดี รัฐบาาลต้องดูแลระบบเศรษฐกิจระยะยาว ให้ค่าเงินบาทแข่งขันได้ และดอกเบี้ยต่ำ ไม่ใช่ดูแค่เงินทุนไหลเข้า-ออก รัฐบาลต้องทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตสูงขึ้นเป็น 6-7% ไม่ใช่แค่ 2-3% ในปัจจุบัน
1.ในช่วงที่รัฐบาลสหรัฐฯ ขึ้นดอกเบี้ยมากๆ เมื่อกลางปี 2565 มีนักการเงินและนักวิเคราะห์ฯ ออกมาเรียกร้อง ให้ประเทศไทยรีบขึ้นดอกเบี้ยมากๆ ตาม โดยกล่าวว่า"หากไม่ขึ้นดอกเบี้ยมากๆ ตามสหรัฐฯ เงินทุนสำรองฯ จะไหลออกจำนวนมาก แล้วประเทศไทยจะมีวิกฤตด้านการเงิน ในตอนนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ได้ทำตามคำเรียกร้อง เพราะหากทำเช่นนั้นเศรษฐกิจไทยจะแย่ลง คนจะจนลงอีกมาก ธุรกิจ SME ที่ยังเป็นหนี้สินอยู่มากมาย จะแย่ลงอีก
2.มาถึงวันนี้ ดอกเบี้ยไทยห่างจากสหรัฐฯ มากขึ้นไปอีก คือดอกเบี้ยของสหรัฐฯ เท่ากับ 4.5-4.75% ส่วนดอกเบี้ยไทยเท่ากับ 1.5% แล้วเงินทุนต่างประเทศระยะสั้นก็ไหลเข้าประเทศไทยมากมายด้วย เพื่อเข้ามาหากำไรในตลาดหุ้นไทยที่ยังราคาต่
3.ดังนั้น การบริหารระบบเศรษฐกิจที่ดี คือเราต้องดูแลเศรษฐกิจระยะยาวให้ขายสินค้าได้มากๆ ทำให้สามารถผลิตได้มาก มีการจ้างงานมากๆ มีการลงทุนเพิ่ม ค่าแรงงานจะได้เพิ่มขึ้นเร็วๆ ไม่ใช่มองเฉพาะเงินตราต่างประเทศไหลเข้า-ออก ผู้ที่เรียกร้องเหล่านั้นไม่เข้าใจเป้าหมายของการบริหารระบบเศรษฐกิจมหภาคคือ ความเจริญเติบโต (Growth) การจ้างงาน (Employment) และการพัฒนา (Development)
4.วันนี้ เงินทุนต่างประเทศไหลเข้าไทยมากมายทั้งๆ ที่ดอกเบี้ยไทยต่ำกว่าสหรัฐมากยิ่งขึ้น ต่างกันถึง 3 percentage point วันนี้ คนที่ออกมาเรียกร้องหายหน้าหายตาไปหมดแล้ว
5. การทำให้ระบบเศรษฐกิจ เติบโตได้ 6-7% เพื่อสร้างรายได้ประเทศและฐานะความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนนั้น รัฐบาลต้องจัดการไม่ให้ประเทศและประชาชนเป็นหนี้มากเกินไป ไม่ให้ดอกเบี้ยที่แท้จริงสูงเกินไป และไม่ให้อัตราแลกเปลี่ยนที่ทำให้ค่าเงินบาทที่แท้จริงแข็งเกินไป เศรษฐกิจจึงจะเจริญเติบโตได้ในอัตราสูง รัฐฯ จะมีรายได้ภาษีมากเพียงพอ มาใช้ในการลงทุนภาครัฐฯ การเน้นงบประมาณรายจ่ายอย่างเดียวในประเทศที่เจริญเติบโตต่ำเช่นไทย จะไม่สามารถแก้ปัญหาความทุกข์ยากของประชาชนได้
6.รัฐบาลต้องเลิกไปกู้เงินมาแจก เพราะมีแต่จะทำให้ประเทศไม่พัฒนา รัฐฯ ยังต้องลดหนี้สินที่มากมายของรัฐบาลเอง โดยลดรายจ่ายซื้ออาวุธ รายจ่ายโฆษณาตนเอง รายจ่ายซ้ำซ้อน และลดขนาดรัฐบาลลง
7.รัฐฯ ยังต้องลดหนี้สินของครัวเรือน และของ SME โดยให้ธนาคารแห่งประเทศไทยจัดแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ ให้ประชาชนและ SME ปรับโครงสร้างหนี้ได้ ให้จ่ายดอกเบี้ยที่ต่ำเพียงพอ ที่จะฟื้นฟูกิจการได้ (จากปัญหาโควิดถึง 3 ปี) แหล่งเงินทุนนี้น่าจะประมาณ 1 ล้านล้านบาท เป็นเวลา 3 ปี ดอกเบี้ยน่าจะ 2-3% ไม่ใช่ 8-9% เช่นปัจจุบัน โดยให้ธนาคารพาณิชย์ และธนาคารของรัฐเป็นผู้กระจายสินเชื่อให้ได้ตามเป้าหมาย มีกลไกรายงานตรวจสอบ และร้องเรียนได้ เศรษฐกิจไทยก็จะไม่จมปลักอยู่กับหนี้จำนวนมาก สามารถฟื้นและเติบโตได้รวดเร็วขึ้น
7.รัฐฯ ยังต้องแก้ปัญหาค่าเงินบาทที่ผันผวนมาก จนต้องตั้งราคาสินค้าส่งออกแพง แข่งขันไม่ได้ และควรมีนโยบาย กำหนดเป้าหมายค่าเงินบาท (Exchange rate targeting) ที่เหมาะสม ไม่แข็งค่าเกินไป
8.ในที่สุดรัฐฯ ต้องตระหนักว่า รัฐบาลมีหน้าที่ทำให้พี่น้องประชาชนมีรายได้มากๆ สามารถดูแลครอบครัว มีฐานะดี หมดหนี้สิน มีอนาคตที่สดใส มีจินตนาการและความใฝ่ฝัน ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช กล่าว