"พิธา"ร่วมแสดงวิสัยทัศน์ "อนาคตประเทศไทย Economic Drives เศรษฐกิจไทยสตาร์ทอย่างไรให้ก้าวนำโลก" ชูสร้างงาน ซ่อมประเทศ ลดความเหลื่อมล้ำ
เมื่อวันที่ 9 ก.พ.66 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ร่วมแสดงวิสัยทัศน์พร้อมผู้นำพรรคการเมืองต่างๆ ในงานสัมมนา “อนาคตประเทศไทย Economic Drives เศรษฐกิจไทยสตาร์ทอย่างไรให้ก้าวนำโลก” ซึ่งร่วมจัดโดยเครือโพสต์ทูเดย์และเนชั่น ให้ผู้นำพรรคการเมืองได้พูดถึงมุมมองของแต่ละพรรคที่มีต่อสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน พร้อมนำเสนอนโยบายเศรษฐกิจของแต่ละพรรค
นายพิธาเริ่มต้นการนำเสนอ โดยระบุว่าโจทย์ที่ได้รับมาวันนี้จากผู้จัดงาน คือเราจะกำหนดนโยบายเศรษฐกิจอย่างไรให้ตรงใจตลาดโลก แต่ในการนี้ตนต้องขอคิดต่าง ว่าคำถามที่ถูกต้อง คือเราจะกำหนดนโยบายเศรษฐกิจอย่างไรให้ตรงใจคนไทยและตลาดโลกไปพร้อมกัน เพราะที่ผ่านมาเรามีเศรษฐกิจที่ตรงใจตลาดโลกมามากแล้ว ทั้งของถูกและมีคุณภาพ แต่จะมีประโยชน์อะไร ถ้าสิ่งนั้นต้องแลกมาด้วยการเสียสละของคนไทย ดังจะเห็นได้ว่าประเทศไทยที่ส่งออกข้าวเป็นอับดับ 1-3 ของโลกมาตลอด แต่เกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศยังยากจน คิดเป็นถึง 66% หรือ 2 ใน 3 ของคนจนอยู่ในภาคการเกษตร จะมีประโยชน์อะไรกับการที่รายได้การท่องเที่ยวของประเทศก่อนโควิด สูงถึง 2 ล้านล้านบาท แต่ 74% กระจุกตัวอยู่แค่ใน 5 จังหวัดจากทั้งประเทศ และจะมีประโยชน์อะไรกับการที่ประเทศไทยมีภาคธนาคารที่เข้มแข็งเป็นอันดับที่ 21 ซึ่งถือเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แต่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนของประเทศไทยพุ่งทะยานไปถึง 89% ของจีดีพีแล้ว
นายพิธา กล่าวต่อว่า ธนาคารโลกล่าสุดคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกปีหน้าจะโตช้าที่สุดในรอบ 30 ปี นี่คือโจทย์ที่รัฐบาลไทยต้องออกแบบนโยบายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ จะเอาแต่พึ่งการส่งออก การลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ รวมถึงการท่องเที่ยวอย่างเดียวไม่ได้แล้ว สิ่งที่เราต้องการวันนี้คือวิธีคิด ซึ่งพรรคก้าวไกลมีกระบวนการวิเคราะห์ กำหนดเป้าหมาย ที่จะนำไปสู่การกำหนดนโยบายอย่างเป็นระบบ พรรคก้าวไกลเริ่มต้นจากการวิเคราะห์หาจุดแข็ง-จุดอ่อน-โอกาส-ภัยคุกคาม (SWOT analysis) ที่ทำให้เราได้เห็นภาพของประเทศไทยในปัจจุบัน กล่าวคือ ประเทศไทยมีจุดแข็ง คือความสร้างสรรค์ ห่วงโซ่อุปทานที่ดีระดับหนึ่ง และมีเสถียรภาพทางการเงินการคลัง ในขณะเดียวกันก็มีจุดอ่อนคือการก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มตัว การมีระบบรัฐราชการรวมศูนย์ที่เต็มไปด้วยการคอร์รัปชัน และความเหลื่อมล้ำที่สูงมาก หากมองในแง่โอกาส แนวโน้มการลงทุนของโลกในขณะนี้กำลังมุ่งไปที่การกระจายความเสี่ยงออกจากฐานการผลิตเดิม ขณะเดียวกันกำลังจะเกิดการปฏิรูปภาษีโลกครั้งใหม่ (Global Minimum Tax) หรือ GMT แต่โลกก็กำลังมอบโจทย์ความท้าทายให้กับประเทศไทยในหลายด้านเช่นเดียวกัน ทั้งในเรื่องภาวะโลกร้อน ปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์เช่นสงคราม และราคาโภคภัณฑ์ที่ผันผวน
นายพิธา กล่าวด้วยว่า เมื่อได้ภาพปัจจุบันของประเทศดังนี้แล้ว การกำหนดยุทธศาสตร์ของพรรคก้าวไกลจึงเกิดขึ้นภายใต้โจทย์เพื่อให้เศรษฐกิจไทยเติบโตไปพร้อมกับการลดความเหลื่อมล้ำ นำมาสู่นโยบาย “สร้างงาน ซ่อมประเทศ” หรือการนำปัญหาร้อยแปดพันเก้าที่เรื้อรังมาข้ามทศวรรษ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไม่ถึงระบบขนส่งสาธารณะ น้ำประปาที่ไม่สะอาด ปัญหาพลังงาน ความเหลื่อมล้ำ เปลี่ยนให้เป็นโอกาสในการสร้างงาน เพื่อซ่อมประเทศ กล่าวคือ
(1) เพิ่มจุดแข็ง ด้วยนโยบายกองทุนภาพยนตร์ เพื่อนำไปสู่การส่งออกเศรษฐกิจสร้างสรรค์ การเปิดเสรีโซลาร์เซลล์ให้ประชาชนดำเนินการติดตั้งโซลาร์เซลล์ได้ง่ายขึ้นและสามารถขายไฟส่วนเกินคืนให้รัฐได้ และคูปองเมืองรองเพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกิดการกระจายนักท่องเที่ยวไปยังหัวเมืองรองต่างๆ
(2) ลดจุดอ่อน ด้วยนโยบายหวย SMEs ให้ใบเสร็จจากการซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการรายย่อยแลกเป็นสลากกินแบ่ง เพิ่มแรงจูงใจในการอุดหนุน SMEs ให้มีแต้มต่อแข่งกับทุนใหญ่ การกระจายอำนาจให้นำไปสู่การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด การสร้างระบบ AI ตรวจจับการทุจริต และการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ การลดจำนวนใบอนุญาตที่ผู้ประกอบการต้องขอลง 50% และแก้ไขกฎระเบียบการออกใบอนุญาต ให้ต้องทราบผลภายใน 15 วัน ไม่เช่นนั้นให้มีผลเท่ากับการอนุมัติในทันที
(3) คว้าโอกาส ด้วยแนวทางการสร้างเทคโนโลยีที่เป็นของประเทศไทยเองขึ้นมา เพื่อสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงโซลาร์เซลล์ที่กล่าวไปข้างต้น
(4) ป้องกันภัยคุกคามที่เกิดจากความท้าทายของโลก เช่นภาวะโลกร้อน ด้วยการสร้างระบบขนส่งสาธารณะรถเมล์ไฟฟ้าในทุกจังหวัด การกำหนดเพดานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการสร้างรัฐสวัสดิการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ
หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวอีกว่า สถานะทางเศรษฐกิจของประเทศไทยขณะนี้ อยู่ต่ำกว่าหลายประเทศ ทั้งในด้านการเติบโตที่สะท้อนผ่านจีดีพี และรายได้ต่อหัวที่สะท้อนความเหลื่อมล้ำในประเทศ เป้าหมายของนโยบายพรรคก้าวไกล จึงอยู่ที่การผลักสถานะของประเทศไทย ทั้งในแง่ของการเติบโตและรายได้ต่อหัวประชากรให้ขึ้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก แต่สิ่งนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยตราบที่เศรษฐกิจของประเทศไทยยังใช้วิธีการเหมือน 40 ปีที่ผ่านมา
“คำตอบอย่างเป็นรูปธรรมที่สุดคือผลักประเทศให้เติบโตไปด้วย และลดความเหลื่อมล้ำให้คนในประเทศไปด้วย การสร้างการเติบโตของประเทศด้วยอุตสาหกรรมเก่า การส่งออกแบบเก่า พึ่งพาการลงทุนแบบเก่า ไม่สามารถตอบโจทย์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยได้อีกแล้ว มันจะมีประโยชน์อะไรถ้าเศรษฐกิจเติบโต แต่คนไทยส่วนใหญ่ยังต้องอยู่ในนรก ทั้งนรกหนี้สินและนรกของความเหลื่อมล้ำ ทางออกเดียวของประเทศไทยที่จะตอบโจทย์นี้ได้ คือการสร้างอุตสาหกรรมภายในประเทศ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการและปัญหาของคนไทย” นายพิธา กล่าว