อธิบดี คพ.แจง PM2.5 ส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระดับอันตรายสีแดง 70 พื้นที่ทั่วประเทศเฝ้าระวัง 3-4 ก.พ.
เมื่อวันที่ 2 ก.พ.66 ที่กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดี คพ. ในฐานะประธานศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) แถลงว่า เช้านี้ในเวลา 07.00 น. ตรวจวัดค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 วัดค่าได้ระหว่าง 17-158 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก.ลบ.ม.) (ค่ามาตรฐานไม่เกิน 50 มคก.ลบ.ม.) คุณภาพอากาศอยู่ในระดับ คุณภาพดีมากถึงมีผลกระทบต่อสุขภาพ วันนี้มีพื้นที่สีแดงรวม 70 พื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ส่วนใหญ่อยู่ในเขต กทม.และปริมณฑล ถือว่าค่าฝุ่นสูงติดต่อกันเป็นวันที่ 2 แล้ว ซึ่งมีปัจจัยสำคัญจากสภาพอากาศปิด ลมสงบ การจราจรติดขัด ส่งผลให้ฝุ่นสะสมตัวมากขึ้น ทั้งนี้สถานการณ์ PM2.5 ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ทส. ได้ร่วมบูรณาการกับทาง กทม. และได้มีข้อสรุปตามมาตรการไปแล้วเมื่อวันที่ 1 ก.พ.66 อาทิ หน่วยงาน กทม. ให้ทำงานจากที่บ้าน (WFH) ยกเว้นส่วนที่ให้บริการประชาชน และขอความร่วมมือจากหน่วยงานราชการในพื้นที่ WFH ให้ ผอ.เขตประสานกับเอกชนในพื้นที่ โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ให้ความร่วมมือในการ WFH ด้วยเช่นกัน ส่วนโรงเรียน ยังไม่มีการประกาศปิด แต่ให้งดทำกิจกรรมในพื้นที่โล่งแจ้ง อย่างไรก็ตาม คพ.จะประสานการให้ข้อมูลสถานการณ์ แต่ในระดับการปฏิบัติการจะเป็นดุลพินิจของแต่ละหน่วยงาน ทั้งนี้หากค่าฝุ่นใน กทม.ยังอยู่ในระดับ 3 (ค่าฝุ่นอยู่ระหว่าง 51-75 มคก.ลบ.ม.) ทาง กทม. จะขอความร่วมมือ แต่หากค่าฝุ่นอยู่ในระดับ 4 (ค่าฝุ่นมากกว่า 75 มคก./ลบ.ม.) ติดต่อกันเกิน 3 วัน ทาง กทม. สามารถสั่งการตามมาตรการได้
อธิบดี คพ. กล่าวอีกว่า จากการตรวจสอบข้อมูลของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ จิสด้า (GISTDA) เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 66ที่ผ่านมา พบจุดความร้อนทั่วประเทศประมาณ 1,200 จุด ซึ่งหัวใจสำคัญในการลดจุดความร้อน คือ การบริหารจัดการเชื้อเพลิง บางจังหวัดงดการเผาในบางช่วงเวลา ทำให้บางครั้งเกิดปัญหารุมเผาในบางช่วงเวลาเช่นกัน ดังนั้นการบริหารจัดการเผาจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งแต่ละจังหวัดจะมีอำนาจเต็มในการควบคุมการเผา โดยมีแอปพลิเคชั่น Burn Check ใน จ.เชียงใหม่ใช้แล้ว 100% แต่บางจังหวัดยังไม่ 100% ซึ่งต้องประสานความร่วมมืออย่างเข้มงวดต่อไป โดยภาครัฐตั้งเป้าลดจุดความร้อน ให้ได้ 50-60 % คพ. ได้คาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ในวันที่ 3-4 ก.พ. นี้ พื้นที่ กทม.และปริมณฑลควรเฝ้าระวังการสะสมของฝุ่นละออง เนื่องจากสภาพอากาศที่นิ่ง และปิด โดยพื้นที่ที่ควรเฝ้าระวัง ได้แก่พื้นที่กรุงเทพกลาง กรุงธนเหนือ และใต้ (พื้นที่ท้ายลม) และพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือควรเฝ้าระวังบริเวณภาคเหนือตอนบนและล่าง โดยเฉพาะช่วงวันที่ 3-4 ก.พ.
อธิบดี คพ. กล่าวว่า 2 ปีที่ผ่านมา สถิติค่าฝุ่นลดลงในทุกๆ ปี แต่ในปี 66 จากการคาดการณ์ คาดว่าค่าฝุ่นอาจรุนแรงกว่าปี 65 อันเนื่องมาจากสภาพอากาศที่จะแล้งมากขึ้น เราคาดหวังว่าจะสามารถควบคุมปริมาณฝุ่นไม่ให้รุนแรงไปกว่าปีก่อน อีกทั้งในวันที่ 1 มิ.ย. 66 นี้ จะมีการปรับเปลี่ยนค่ามาตรฐานฝุ่น PM2.5 ค่าเฉลี่ย 24 ชม.จากเดิมไม่เกิน 50 มคก.ต่อลบ.ม. ลดลงเหลือ 37.5 มคก.ต่อลบ.ม. ดังนั้นการบริหารจัดการฝุ่น PM2.5 จะต้องเข้มข้นกันมากขึ้น