เจิ้งโจว, 1 ก.พ. (ซินหัว) — คณะนักโบราณคดีจีนค้นพบซากโบราณ ซึ่งมีความเก่าแก่อยู่ระหว่างจากยุคราชวงศ์ซ่ง (ปี 960-1279) จนถึงยุคราชวงศ์หยวน (ปี 1271-1368) ในเมืองอันหยาง มณฑลเหอหนานทางตอนกลางของจีน โดยมีข้อสันนิษฐานว่าซากโบราณนี้อาจเป็นพื้นที่ของครัวเรือนผู้พิทักษ์สุสานเฉาเชาหรือโจโฉในช่วงยุคราชวงศ์ซ่งเหนือ (ปี 960-1127)
สถาบันมรดกวัฒนธรรมและโบราณคดีมณฑลเหอหนาน ระบุว่ามีการค้นพบทางระบายน้ำใต้ดินและซากสถาปัตยกรรมแบบก่ออิฐที่ซากโบราณแห่งนี้ ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกของสุสานเฉาเชาหรือโจโฉ บุคคลทางประวัติศาสตร์ชื่อดังในจีน รวมถึงโบราณวัตถุหลายรายการ เช่น เครื่องเคลือบ เหรียญ เครื่องใช้เพื่อความบันเทิง และวัสดุก่อสร้าง
โจวลี่กาง ผู้ช่วยวิจัยประจำสถาบันฯ กล่าวว่าลักษณะของโบราณวัตถุและทางระบายน้ำที่ขุดพบ กอปรกับปริมาณและความหลากหลายของเครื่องเคลือบ ทำให้สันนิษฐานได้ว่าซากโบราณนี้ไม่ได้เป็นของบุคคลธรรมดาสามัญชน และเมื่อประสานกับบันทึกทางวรรณคดี ทำให้เกิดข้อสันนิษฐานว่าซากโบราณนี้อาจเป็นพื้นที่ของครัวเรือนผู้พิทักษ์สุสาน
ทั้งนี้ โจวเสริมว่าการศึกษาวิจัยภาคสนามในอนาคตอาจช่วยให้เข้าใจหน้าที่ของสถานพำนักโบราณแห่งนี้เพิ่มขึ้น และมอบข้อมูลใหม่สำหรับการศึกษาการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางประวัติศาสตร์รอบสุสานเฉาเชา
(เครื่องเคลือบที่ขุดพบในซากโบราณจากยุคราชวงศ์ซ่งและยุคราชวงศ์หยวน เมืองอันหยาง มณฑลเหอหนานทางตอนกลางของจีน)
(เครื่องใช้เพื่อความบันเทิงที่ขุดพบในซากโบราณจากยุคราชวงศ์ซ่งและยุคราชวงศ์หยวน เมืองอันหยาง มณฑลเหอหนานทางตอนกลางของจีน)
(แผนภาพตำแหน่งที่ตั้งของสุสานเฉาเชาและพื้นที่ขุดค้นซากโบราณจากยุคราชวงศ์ซ่งและยุคราชวงศ์หยวน เมืองอันหยาง มณฑลเหอหนานทางตอนกลางของจีน)