"มัลลิกา" จี้ "กสทช-ดีอีเอส-ค่ายมือถือ" รับผิดชอบปล่อยแก๊งคอลเซ็นเตอร์ส่งเอสเอ็มเอสหลอกเหยื่อกดลิงก์กรอกข้อมูล ดูดเงินในบัญชี เตือนทำงานให้ทันโจร
เมื่อวันที่ 29 ม.ค.66 ดร.มัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เปิดเผยว่า จากข้อมูลรับเรื่องร้องเรียนของมูลนิธิมัลลิกาเพื่อประชาชน ( Mallika Foundation ) ขณะนี้มีสถิติถี่ขึ้นมากกว่าเดิมสำหรับประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์ประเภทกดลิ้งค์อ้างแจกเงิน แจกตั๋วเครื่องบิน แจกโปรโมชั่นต่าง ๆมีแม้แต่เหยื่อที่เป็นข้าราชการเกษียณและผู้สูงอายุอื่นๆที่มีเงินเก็บในบัญชีแต่อาจจะไม่รู้เท่าทันเหลี่ยมของโจรทางระบบคอมพิวเตอร์ ขณะเดียวกันเมื่อให้ไปแจ้งความดำเนินคดีทางเจ้าหน้าที่ก็มีประสบการณ์และทักษะน้อยมากรวมทั้งจำนวนเจ้าหน้าที่ซึ่งควรจะมีทักษะก็ไม่มีเป็นต้น เรื่องนี้ตำรวจและกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมหรือดีอีเอส ควรต้องตระหนักกับยุทธศาสตร์เชิงรุกและควรยกเครื่องอย่างมาก ทีนี้เคสที่เจอเหยื่อส่วนใหญ่สูญเงินโดยที่ไม่ได้คืนเพราะเบอร์โทรศัพท์ของแก๊งคอลเซ็นเตอร์เหล่านี้ที่ส่งเป็นข้อความมาทาง sms หลอกให้กดลิงก์ แล้วกรอกข้อมูลส่วนตัวเพื่อแลกกับสิ่งจูงใจต่างๆมีมากขึ้นและพัฒนาไปจากพวกแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่เป็นบุคคลโทรศัพท์พูดคุย เจ้าหน้าที่เราจะนั่งทำคดีไปวันๆโดยที่ไม่หาทางรับมือหาทางแก้หาวิธีเชิงรุกไม่ได้แล้วค่ะ เรื่องนี้ต้องถึงนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคงต้องขยับยุทธศาสตร์นโยบาย
ดร.มัลลิกา กล่าวต่อว่า ขณะนี้ประเทศเราปล่อยให้ตำรวจซึ่งก็มีความรู้ความเชี่ยวชาญไม่ได้มากไปกว่าประชาชนรับมืออยู่ฝ่ายเดียวแล้วปล่อยประชาชนเผชิญชะตากรรมบนโลกออนไลน์ด้วยตนเองแต่ไม่มีผู้รับผิดชอบและโจรขบวนการแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์ก็ย่ามใจพัฒนาฝีมือเข้าไปอีก ขอเรียนว่านายกรัฐมนตรีและรัฐบาลต้องไม่ลืมว่าผู้รับผิดชอบที่ปล่อยถนนบรอดแบนด์หรือถนนของเทคโนโลยีการส่งข้อมูลด้วยความเร็วผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตนั้น คือ 1.กสทช. หรือสำนักงานงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่เป็นอิสระ ทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่วิทยุและกำกับการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม 2.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเส) เป็นหน่วยงานราชการส่วนกลางประเภทกระทรวง มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการวางแผน ส่งเสริม พัฒนา และดำเนินกิจการเกี่ยวกับดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 3.ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือในประเทศไทยทุกค่าย
"ถ้าหากประชาชนจะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายก็เรียงลำดับจำเลยตามนี้ได้เลยผ่านมือถือค่ายใดก็ค่ายนั้นเพราะทั้ง 3 ฝ่ายที่กล่าวคือผู้ให้บริการโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ตปล่อยสัญญาณ ควบคุมกำกับ บริหารจัดการใช่หรือไม่ ทั้งนี้ถ้าหากช่องทางที่ให้บริการเหล่านั้นเป็นช่องทางที่โจรทางอินเตอร์เน็ตเข้าถึงตัวของผู้รับบริการโดยไม่ผ่านกระบวนการหรือกรรมวิธีทางเทคโนโลยีสกัดกั้นคัดกรองให้ผู้บริโภค พวกเขา 3 ฝ่ายนี้ควรรับผิดชอบ และเขาต้องลงทุนหากรรมวิธีต้องเป็นฝ่ายลงทุนในการคิดหานวัตกรรมทางเทคโนโลยีในการที่จะคัดกรองข้อมูล การสกัดกั้น การใช้AI ช่วยประชาชนรอดพ้นจากภัยทางอินเตอร์เน็ตได้ไม่ใช่ปล่อยประชาชนผู้บริโภคเผชิญชะตากรรมเช่นนี้เพียงลำพัง ถ้าไม่เริ่มก็เริ่มเสียถ้าไม่คิดก็คิดเสียเลย" ดร.มัลลิกา กล่าว