ภาคประชาสังคมค้านโครงการสอนขี่ จยย.ใน รร.ทั่วประเทศ หวั่นกระตุ้นเด็กอยากขี่ จยย. ทำให้อัตราการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนพุ่ง
เมื่อวันที่ 20 ม.ค.66 พญ.ชไมพันธ์ สันติกาญจน์ หัวหน้าโครงการขับเคลื่อนสังคมไทยสู่ผู้ใช้จักรยานยนต์ปลอดภัยและอดีตที่ปรึกษาประจำองค์การอนามัยโลกภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ ด้านป้องกันการบาดเจ็บและภาวะพิการ เปิดเผยถึงกรณีที่หน่วยงานรัฐแห่งหนึ่งทำหนังสือด่วนที่สุดถึงผู้บริหารบริษัทผลิตและจำหน่ายรถจักรยานยนต์ยี่ห้อหนึ่ง ขอสนับสนุนวิทยากรฝึกอบรมเยาวชนขับขี่ปลอดภัย เสริมสร้างวินัยจราจรและป้องกันอุบัติภัยในโรงเรียน ประจำปีงบประมาณ 2566 ในพื้นที่ 76 จังหวัด จังหวัดละ 2 รุ่นในห้วงเดือน ม.ค.-มี.ค.66 โดยหนังสือดังกล่าวได้ขอความร่วมมือจากบริษัท และร้านขายจักรยานยนต์ในพื้นที่ทั่วประเทศให้สนับสนุนวิทยากรให้เข้ามาร่วมดำเนินการในโครงการดังกล่าว ว่า ในฐานะนักวิจัยและคนทำงานด้านป้องกันการบาดเจ็บและภาวะพิการ ขอคัดค้านโครงการดังกล่าว โดยไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบอันเลวร้ายที่จะเกิดขึ้น การไปอบรม ขับขี่จักรยานยนต์ให้เด็กถึงในโรงเรียนจะสุ่มเสี่ยงต่อข้อครหาเรื่อง การทำการตลาดและสร้าง brand loyalty หรือไม่ และไม่ใช่แค่โรงเรียนเดียวแต่เป็นโรงเรียนทั่วประเทศ ที่ผ่านมา หลายฝ่ายพยายามรณรงค์เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตจากรถจักรยานยนต์และคัดค้านการที่จะให้เด็กขี้รถจักรยานยนต์ซึ่งมีความเสี่ยงสูงมาก งานวิจัยจากทั่วโลก ก็ระบุชัดว่าการสอนขับขี่รถจักรยานยนต์ในโรงเรียน นอกจากจะไม่ช่วยลดอุบัติเหตุบนท้องถนนแล้ว ยังมีส่วนทำให้อัตราการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนเพิ่มขึ้นด้วย
“ดิฉันขอเรียกร้องให้ระงับเรื่องนี้ไว้ก่อนเพราะ เนื้อหาหลักสูตรที่แนบมายังมีปัญหา การอบรม ถ้าไม่มีการสื่อสารความเสี่ยงนำมาก่อน เพื่อตอกย้ำถึงความเสี่ยงและความสูญเสียอย่างต่อเนื่อง จะกลายเป็นการกระตุ้นให้เด็กอยากขับขี่ ส่งผลกระทบทางลบต่อเด็กและเยาวชนเพิ่มขึ้น ย้อนแย้งกับงานวิจัยทั่วโลกที่เสนอแนะให้พยายามยืดเวลาการขับขี่ออกไปให้เด็กและเยาวชนมีความพร้อมเพื่อความปลอดภัย ตามพัฒนาการ ทั้งในเรื่องการชอบเสี่ยง และ การยับยั้งชั่งใจ หากไม่ทบทวนให้เหมาะสม จะสร้างปัญหาในเด็กและเยาวชนของ ประเทศไทยอย่างกว้างขวางและใหญ่หลวงในระยะยาว” พญ.ชไมพันธุ์ กล่าว
พญ.ชไมพันธุ์ กล่าวด้วยว่า จากงานวิจัยของ Ian G Roberts และ Irene Kwan ซึ่งได้ทำการทบทวนการวิจัยอย่างเป็นระบบ ที่เรียกว่า Cochrane Systematic Review ระบุไว้ชัดเจนเลยว่า การสอนขับขี่รถในโรงเรียน นำไปสู่การขอออกใบอนุญาตก่อนเวลา และไม่มีหลักฐานว่า ช่วยลดอุบัติเหตุบนท้องถนน ขณะเดียวกันอาจนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของอุบัติเหตุบนถนนที่เกิดกับวัยรุ่นอีกด้วย การสอนแบบนี้จะทำให้คนไม่สนใจว่าทำไมต้องทำตามกฎหมาย เพราะไม่เข้าใจว่าจะมีผลกระทบต่อตนเองครอบครัวและสังคมอย่างไร รู้เพียงแค่ว่าขี่เป็น ที่สำคัญจะเป็นการกระตุ้นให้เด็กอยากขี่รถมอร์เตอร์ไซค์มากกว่าที่จะรู้รอบเรื่องภัยจากรถจักรยานยนต์ ขอเรียกร้อง เชิญชวนให้พ่อแม่ผู้ปกครองทั้งประเทศอย่ายอมให้มีโครงการนี้
ด้าน น.ส.ชฎาพร สุขสิริวรรณ นักวิจัย ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็กคณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี กล่าวว่า ในฐานะคนทำงานด้านความปลอดภัยของเด็กและการคุ้มครองเด็ก อยากตั้งคำถามกลับไปว่า รู้ไหมว่าไม่ควรส่งเสริมการขับขี่ในเด็ก ไม่ควรจัดอบรม ช่วงสั้นๆ เพื่อว่าจะเกิดการขับขี่ปลอดภัย หรือเร่งรัดในการให้เด็กวัยเรียนขับขี่รถจักรยานยนต์ โครงการอบรมนี้ จึงไม่ให้ความคุ้มครองความปลอดภัยแก่เด็กตาม มาตรา 23 ของ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก 2546 การฝึกอบรมขับขี่ เป็นสิ่งที่ควรทำอย่างมีมาตรฐาน เพื่อสร้างความมั่นใจว่าผู้เรียนรู้ปฏิบัติได้ถูกต้อง สร้างความปลอดภัยแก่ตนเองและผู้อื่น แต่การจัดอบรมในลักษณะนี้ เป็นการกระตุ้นให้เด็กอยากขับขี่และกระตุ้นความต้องการรถจักรยานยนต์ของเด็กต่ำกว่า 18 ปี