สร้างประสบการณ์ห้องเรียนในฝัน สู่โลกปัจจุบันที่เป็นจริง

2023-01-21 09:00:05

สร้างประสบการณ์ห้องเรียนในฝัน สู่โลกปัจจุบันที่เป็นจริง

Advertisement

สร้างประสบการณ์ห้องเรียนในฝัน สู่โลกปัจจุบันที่เป็นจริง

     
ในโลกของการเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุด ชวนย้อนกลับมาที่โลกในโรงเรียน คือจุดเริ่มต้นของเด็กๆ ที่จะเรียนรู้อย่างรอบด้าน เพื่อต่อยอดเป็นผู้ที่สร้างโลกในฝัน ให้เป็นจริงในวันข้างหน้า พบกับสารคดี SOME ONE หนึ่งในหลาย ตอน “ห้องเรียนหลากวัฒนธรรมในฝัน” วันเสาร์ที่ 21 มกราคมนี้



นอกจากการเรียนรู้ตามหลักสูตรส่วนกลาง ที่ตอบโจทย์พัฒนาการตามช่วงชั้น การเรียนรู้ที่จะเข้าใจและอยู่ร่วมกันในสังคมเป็นอีกความจำเป็นของยุคสมัยที่ความแตกต่างหลากหลายถาโถมเข้ามาปะทะกับวิถีชีวิตของทุกคนมากยิ่งขึ้น

สถานศึกษาหลายแห่งเริ่มใช้หลากหลายวิธีการ ที่จะสร้างรูปแบบการเรียนในฝัน เพื่อให้เด็กๆ ได้สร้างสมประสบการณ์ เรียนรู้ เข้าใจ และใช้ชีวิตในพหุสังคมมากขึ้นกว่ายุคสมัยที่ผ่านมา





เราเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่ระดับนโยบายจนถึงแนวปฏิบัติในโรงเรียน เพื่อเปิดรับความหลากหลาย โดยให้สถานศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดกิจกรรมการเรียนรู้อย่างเป็นอิสระมากขึ้น

ตัวอย่างหนึ่งที่ดำเนินการมานานกว่า 18 ปีแล้ว เริ่มต้นจากปัญหาความขัดแย้งรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ คือ โครงการทักษะวัฒนธรรมของกลุ่มนักวิชาการ นักการศึกษา และกระบวนการโดยการขับเคลื่อนของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ที่ขยายแนวคิดทักษะวัฒนธรรมทั้งการเข้าใจตัวเอง และการอยู่ร่วมกันกับคนต่างศาสนาและวัฒนธรรมไปสู่ห้องเรียน

โรงเรียนตันหยงมัส คือโรงเรียนต้นแบบของโครงการ ที่ครูในพื้นที่นำกระบวนการการเรียนการสอนไปปรับเข้ากับบริบทของโรงเรียน ผ่านวิชาเรียน และกิจกรรมกลุ่มสร้างสรรค์นอกห้องเรียน ขยายไปยังนอกห้องเรียน และในชุมชน ผ่านการผลิตหนังสั้น ทำละครเวที จัดแสดงดนตรี และนิทรรศการศิลปะ ซึ่งเหล่านี้ผลลัพธ์ไม่ได้หยุดแค่เด็กและเยาวชน แต่คือการเปิดพื้นที่บริหารจัดการทักษะวัฒนธรรมของคนหลากหลายรุ่นในพื้นที่ด้วย





เกือบ 2 ทศวรรษที่ผ่านไป วันนี้โครงการทักษะวัฒนธรรมได้ข้ามพื้นที่วัฒนธรรมจากชายแดนใต้มาต่อยอดกระบวนการ และสร้างสรรค์เครื่องมือพัฒนาทักษะทางวัฒนธรรมหลายรูปแบบ กับเยาวชนอีกหลายพื้นที่หลายความแตกต่างหลากหลายมากขึ้นกว่าเดิม

อีกมุมหนึ่งของฝั่งทะเลอันดามัน บนเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ “โรงเรียนบ้านศาลาด่าน” และ “โรงเรียนบ้านทุ่งวิทยพัฒน์” ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม นักเรียนของโรงเรียนนี้จึงมีภูมิหลังที่มีความแตกต่างกันอย่างมากมาย



โดยรอบของโรงเรียน มีชุมชนมุสลิมอยู่หลากหลายกกลุ่ม มีแหล่งชุมชนคนไทยเชื้อสายจีนอาศัยอยู่ไม่น้อย รวมทั้งกลุ่มชาวเลอูรักลาโวยจ และเมื่อเกาะลันตาเริ่มเป็นพื้นที่ยอดนิยมสำหรับการท่องเที่ยวความหลากหลายก็เพิ่มขึ้นมาเป็นชาวต่างชาติ และชาวไทยในทุกภูมิภาคที่เข้ามาเสริมในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว



สังคมบนเกาะลันตาฉายภาพให้เห็นชุมชนพหุสังคมที่อยู่ร่วมกันอย่างสงบสันติ แต่แต่ในหลายมิติก็ยังมีช่องว่างของความต่างที่อาจจะขยายวงกว้างและอาจลดทอน ความเข้าใจระหว่างผู้คนที่นี่ในรุ่นต่อๆ ไปอย่างไม่รู้ตัว

ท่ามกลางความหลากหลายที่ไม่มีการปฏิสัมพันธ์เรียนรู้ระหว่างกลุ่มต่างๆ กัน เป็นโอกาสให้เกิดโครงการวิจัย Inter Cultural Education หรือว่า ICE การเรียนรู้เพื่อการอยู่ร่วมกันระหว่างวัฒนธรรม เข้ามาขับเคลื่อนโดยการทำงานร่วมกันระหว่างผู้นำทางความคิดในเกาะลันตา ทั้งผู้บริหารโรงเรียน คณะครู และชาวชุมชนหลายกลุ่มวัฒนธรรม ร่วมกับผู้รู้จากองค์กรพัฒนาเอกชนด้านการศึกษาในยุโรป และนักวิชาการสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล



โครงการ ICE ทำงานพัฒนาครูและนักเรียนควบคู่กันไป ทั้งการอบรมผู้สอนให้เข้าใจวัฒนธรรมและความแตกต่างหลากหลายในพื้นที่ ควบคู่ในกับการจัดค่ายวัฒนธรรมกับเด็ก สร้างรูปแบบและสื่อการเรียนการสอนที่เน้นความเข้าใจ ยอมรับ และเคารพในความต่างของวัฒนธรรมระหว่างกัน ผ่านการเรียนรู้ในชุมชนบนเกาะลันตา และสื่อการเรียน เช่น หนังสือภาพ ปฏิทินวัฒนธรรม หรือแม้กระทั่งบอร์ดเกม



หันมามองโรงเรียนในกรุงเทพมหานครบ้าง ในพื้นที่เมืองหลวงกับโรงเรียนทางเลือกที่ใกล้โอกาสในการเรียนรู้รอบด้าน เช่น โรงเรียนรุ่งอรุณ โรงเรียนวิถีพุทธที่ดูเหมือนนักเรียนจะไม่ได้สัมผัสถึงความแตกต่างหลากหลายมากนัก แต่ในมุมมองของครู ความแตกต่างหลากหลายเกิดขึ้นจากวงเล็ก ๆ ในห้องเรียนด้วยซ้ำ โรงเรียนจึงให้ความสำคัญกับการสร้างสมความเป็นพลเมืองโลกที่รู้จัก เข้าใจ เปิดรับการเรียนรู้ระหว่างกัน ผ่านการออกแบบวิชาเรียนด้านสื่อสร้างสรรค์ ที่จะพาเด็กๆ ไปขยายโลกทัศน์ ผ่านการลงพื้นที่หาข้อมูล จัดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในพื้นที่พหุวัฒนธรรม อย่างเคารพและเข้าใจ สร้างประโยชน์ให้แก่เจ้าของพื้นที่ในชุมชน



ท้ายที่สุดแล้ว ทักษะสังคมและการเรียนรู้ด้านวัฒนธรรม เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของทักษะที่จำเป็นแห่งศตวรรษที่ 21 ในการดำเนินชีวิตอย่างสอดคล้องกับกระแสโลก ที่ค่านิยมโอบรับความหลากหลายมีแนวโน้มแพร่หลายมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เรื่องราวของสารคดีตอนนี้ เป็นส่วนหนึ่งของตัวอย่างการสร้างห้องเรียนในฝัน เพื่อสร้างสังคมในฝันในอนาคต ซึ่งคงไม่ใช่แค่ครูหรือโรงเรียนเท่านั้นที่จะช่วยกันสานฝันเหล่านี้ให้เป็นจริงในวันข้างหน้า



ติดตามสารคดี “SOME ONE หนึ่งในหลาย” ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 09.30 น. ทาง MCOT HD 30 ชมย้อนหลังทาง Facebook และ YouTube : สารคดี SOME ONE หนึ่งในหลาย

#someoneหนึ่งในหลาย #พหุสังคมไทย