โซล, 19 ม.ค. (ซินหัว) — วันพฤหัสบดี (19 ม.ค.) สำนักข่าวยอนฮับอ้างอิงข้อมูลจากสำนักงานสถิติเกาหลีใต้ รายงานว่าอัตราความยากจนของผู้สูงอายุในเกาหลีใต้ยังคงอยู่ในระดับสูงในปี 2021 แม้ลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
อัตราความยากจนเชิงสัมพัทธ์ในกลุ่มผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป อยู่ที่ร้อยละ 37.6 ในปี 2021 ลดลง 1.3 จุดจากร้อยละ 38.9 ในปีก่อนหน้า โดยอัตราความยากจนเชิงสัมพัทธ์หมายถึงสัดส่วนผู้ที่มีรายได้ที่ใช้จ่ายได้จริงต่ำกว่าร้อยละ 50 ของรายได้ค่ากลาง
อัตราความยากจนของผู้สูงอายุ ซึ่งแตะระดับสูงสุดที่ร้อยละ 46.5 ในปี 2011 ลดลงมาอยู่ที่ราวร้อยละ 46.3 ในปี 2013 ร้อยละ 43.2 ในปี 2015 ร้อยละ 42.3 ในปี 2017 และร้อยละ 41.4 ในปี 2019 ก่อนจะลดต่ำกว่าร้อยละ 40 ครั้งแรกในปี 2020
แนวโน้มที่ลดลงนี้เกิดขึ้นหลังจากเกาหลีใต้ริเริ่มระบบบำนาญพื้นฐานสำหรับผู้สูงอายุในปี 2014 อย่างไรก็ดี อัตราความยากจนของผู้สูงอายุในเกาหลีใต้นั้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ที่ร้อยละ 13.5 ราว 1.8 เท่าตัว ขณะอัตราความยากจนเชิงสัมพัทธ์ในผู้ที่มีอายุ 18-65 ปี อยู่ที่ร้อยละ 10.6 ในปี 2021
อนึ่ง เกาหลีใต้กลายเป็นสังคมผู้สูงอายุในปี 2017 เมื่อสัดส่วนของผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปสูงกว่าร้อยละ 14 ของประชากรทั้งหมด โดยมีการคาดการณ์ว่าเกาหลีใต้จะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุระดับสูงในปี 2025 ด้วยสัดส่วนผู้สูงอายุถึงร้อยละ 20
(แฟ้มภาพซินหัว : ประชาชนเดินในกรุงโซล เมืองหลวงของเกาหลีใต้ วันที่ 19 ก.ค. 2022)