ประชุมรัฐสภาล่มติดต่อกันเป็นวันที่ 2 ถกร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติผ่านไปแค่ 2 มาตรา เหตุ ส.ส.ไปร่วมเปิตัตัวสมาชิกใหม่
เมื่อวันที่ 11 ม.ค.66 ที่รัฐสภา ตั้งแต่ช่วงเช้า มีการประชุมรัฐสภา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ วาระ2 ต่อเนื่องเป็นวันที่สอง โดยเริ่มต้นที่การลงมติมาตรา7 ที่ตกค้างมาจากการประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 10 ม.ค.66 ที่เกิดเหตุประชุมรัฐสภาล่ม แต่ปรากฏว่า ยังเกิดปัญหาขลุกขลักในการแสดงตนเป็นองค์ประชุมเช่นเดิม เพราะมี ส.ส.และส.ว.อยู่ในห้องประชุมบางตา เนื่องจากส.ส.ภูมิใจไทยไปร่วมงานเปิดตัวสมาชิกพรรคใหม่ที่พรรคภูมิใจไทยในช่วงเช้า ขณะที่ส.ส.พลังประชารัฐหลายคนเตรียมตัวไปร่วมกิจกรรมเปิดตัวสมาชิกพรรคเช่นกัน จึงเหลือสมาชิกร่วมประชุมน้อย จนประธานที่ประชุมต้องพูดขอร้องหลายรอบให้สมาชิกเข้าห้องประชุมร่วมกันแสดงตนเป็นองค์ประชุม แต่ไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่ควร อย่างไรก็ตามหลังรอคอยสมาชิกอยู่พักใหญ่ จึงมีผู้แสดงตน 347คน ครบองค์ประชุม เกินกึ่งหนึ่งจาก 342 เสียงมา 5 เสียง ทำให้การประชุมดำเนินต่อไปได้
จนกระทั่งเวลา 12.20น. เข้าสู่การพิจารณามาตรา8/1 เมื่อนายพรเพชรสั่งให้สมาชิกแสดงตนเป็นองค์ประชุม มีสมาชิกแสดงตน 349 เสียง ถือว่าครบองค์ประชุม แต่เมื่อถึงขั้นตอนให้สมาชิกเสียบบัตรลงมติ ปรากฏว่า ภาพหน้าจอที่ประชุม โชว์ตัวเลขมีผู้ลงมติเพียง 339คน แต่ยังไม่ทันที่นายพรเพชรจะได้ขานคะแนน กลับมีการปิดหน้าจอแสดงตัวเลขทันที โดยนายพรเพชรพยายามจะขอตรวจสอบองค์ประชุมใหม่อีกครั้ง ทำให้ ส.ส.ฝ่ายค้านหลายคน พากันรุมประท้วงวุ่นวายให้ปิดประชุม เพราะมีสมาชิกไม่ครบองค์ประชุม อาทิ นายพีระเพชร ศิริกุล ส.ส.กาฬสินธุ์ พรรคเพื่อไทย แย้งว่า ถ้าไม่ได้ดังใจก็ทำใหม่เรื่อย ๆหรือไม่ กฎหมายฉบับนี้ครูทั้งประเทศไม่พอใจ เพราะมองไม่เห็นความสำคัญของครู จะยังดื้อดึงอยู่หรือ ขณะที่นายพรเพชรพยายามชี้แจงว่า ตอนที่แสดงตัวเลขลงมติ มองไม่เห็นว่ามีกี่คน จึงต้องดูว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร จากนั้นส.ส.ฝ่ายค้านยังคงเรียกร้องให้ปิดประชุมอย่างต่อเนื่อง โดยนายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า หากยังดื้อดึงเดินหน้าต่อ กฎหมายอาจเป็นโมฆะ หากประธานฯจะเดินหน้าต่อ ฝ่ายค้านจะไม่ร่วมในกระบวนการที่ไม่มีข้อบังคับ
ด้านนายสมชาย แสวงการ ส.ว. พยายามอธิบายแย้งว่า ระหว่างแสดงตนเป็นองค์ประชุม มีครบแน่นอน แต่ตอนลงคะแนน อาจมีคนไม่แสดงตนเป็นองค์ประชุม ทราบดีว่า ร่างพ.ร.บ.นี้มีปัญหา แต่ทุกคนรอฟังอยู่ ถ้ามีปัญหาเรื่ององค์ประชุมไม่ครบ จะตอบสังคมไม่ได้ การทำงานทางการเมืองที่ใกล้จะเลือกตั้ง ประชาชนจะไว้ใจสมาชิกรัฐสภาได้อย่างไร ขอให้ใช้ข้อบังคับการประชุมร่วมรัฐสภา ให้นับองค์ประชุมใหม่ด้วยการลงมติ ให้การประชุมเดินต่อไปได้ ทำให้นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. คัดค้านว่า ถ้านับหัวในห้องประชุม ฝ่ายค้านอยู่ร่วมเป็นองค์ประชุมเกือบ 100 คน แต่ส.ว.กับฝ่าย รัฐบาล มีรวมกันไม่ถึง 250คน หากจะเอาอย่างนั้นก็ตามสบาย เช่นเดียวกับนายอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ถ้าให้มาตรานี้ผ่าน มาตราอื่นๆจะมีปัญหาอีก ขอให้ปิดประชุม ไม่เช่นนั้นปัญหาจะบานปลายไปเรื่อยๆ ถ้าเปิดประชุมต่อ ถือว่าประธานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยมีนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ส.ว. กล่าวเสริมว่า ถ้าลงมติแล้ว มีเสียงลงมติไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ก็ต้องปิดประชุม ในที่สุดนายพรเพชรจึงแจ้งว่า เมื่อองค์ประชุมไม่ครบ ขอปิดประชุม ในเวลา 12.50น. หลังจากเพิ่งอภิปรายได้เพียง 2 มาตราเท่านั้น