อธิบดีแจงกำจัดหมาแมว 100 ตัว ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเป็นมติประชาคมหมู่บ้าน

2018-02-02 12:45:33

อธิบดีแจงกำจัดหมาแมว 100 ตัว ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเป็นมติประชาคมหมู่บ้าน

Advertisement

อธิบดีกรมปศุสัตว์แจงกรณีใช้วิธีการุณยฆาตหมาแมวในหมู่บ้านจะลอ ต.แม่ฟ้าหลวง อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย เป็นมติผู้นำชุมชน ประชาชน และเจ้าหน้าที่ประชุมร่วมกัน  

เมื่อวันที่ 2 ก.พ. น.สพ.อภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ตามที่มีสื่อมวลชนนำเสนอข่าวเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์จังหวัดดำเนินการการุณฆาตสุนัข ในพื้นที่หมู่บ้านจะลอ หมู่ที่ 10 ต.แม่ฟ้าหลวง อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย เนื่องจากพบการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า และสื่อมวลชนนำเสนอข่าวว่าประชาชนในพื้นที่ไม่พอใจการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่นั้น ขอชี้แจงว่า ในพื้นที่ จ.เชียงราย เคยมีการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าในหลายพื้นที่ของ อ.เวียงแก่น ในปี 2557 การควบคุมโรคในขณะนั้นคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนเป็นที่ตั้ง จึงใช้การควบคุมโรคทั้งการฉีดวัคซีนและการการุณยฆาต ตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ จากการควบคุมโรคทำให้ไม่พบโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่ อ.เวียงแก่นจนถึงปัจจุบัน จนกระทั่งปี 2559 มีรายงานการพบโรคพิษสุนัขบ้าในสุนัขจรจัดในพื้นที่หมู่ที่ 3 ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย และมีรายงานการเกิดโรคพิษสุนัขบ้าในสุนัขอีกครั้งเดือน ธ.ค.2560 ในพื้นที่หมู่ที่ 19 ต.แม่สลองใน อ.แม่ฟ้าหลวง ซึ่งได้มีการควบคุมโรค และประกาศเขตโรคระบาดชั่วคราว ดำเนินการค้นหาสัตว์เพื่อสัมผัสโรค


อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวต่อว่า ต่อมาวันที่ 24 ม.ค.261 ได้รับแจ้งจากครู รร.สังวาลย์วิทย์ หมู่ที่ 10 ต.แม่ฟ้าหลวง อ.แม่ฟ้าหลวง ว่า พบสุนัขในโรงเรียน แสดงอาการดุร้าย ไม่มีประวัติฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า ไล่กัดนักเรียนและสุนัขในหมู่บ้านอีกหลายตัว ชาวบ้านจึงช่วยกันจับ ทำลาย และฝังซากสุนัข ในวันเดียวกันปศุสัตว์จังหวัดได้เข้าตรวจสอบและเก็บตัวอย่างสุนัขส่งตรวจ จากนั้นวันที่ 25 ม.ค.เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ อ.แม่ฟ้าหลวง และปศุสัตว์ จ.เชียงราย ได้ประกาศเขตโรคระบาดชั่วคราวในพื้นที่ หมู่ที่ 10 ต.แม่ฟ้าหลวง อ.แม่ฟ้าหลวง ลงพื้นที่หาสัตว์ที่สัมผัสโรค ให้ความรู้แก่ประชาชน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวไทยภูเขา และจากการสอบสวนโรคพบว่า สุนัขในหมู่บ้านจำนวนมากถูกสุนัขที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้ากัด ดังนั้นผู้นำชุมชน ประชาชน และเจ้าหน้าที่จึงประชุมประชาคมร่วมกัน มติที่ประชุมให้ดำเนินการการุณยฆาตสัตว์ที่สัมผัสและสัตว์ที่สงสัย โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558

“การดำเนินการของเจ้าหน้าที่คำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนเป็นที่ตั้ง จึงมีความจำเป็นต้องควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า เนื่องจากโรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน ที่มีความรุนแรง ไม่มีทางรักษา ทำให้เสียชีวิต ทั้งนี้สถานการณ์ระบาดในพื้นที่ ต.แม่ฟ้าหลวง อ.แม่ฟ้าหลวง ได้คลี่คลายลงแล้ว จากความร่วมมือร่วมใจของผู้นำชุมชน และเจ้าหน้าที่ในพื้นที่”อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าว

นายนพพร มหากันธา ปศุสัตว์จังหวัดเชียงราย กล่าวว่า จำเป็นต้องกำจัดสุนัขและแมวของชาวบ้านกว่า 100 ตัว เพื่อควบคุมการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า ตามหลักการจะต้องมีการควบคุมพื้นที่และกักกันสัตว์ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง แต่ด้วยพื้นที่เกิดเหตุเป็นหมู่บ้านชุมชนชาวไทยภูเขา บ้านแต่ละหลังมีการปลูกติดกัน โดยไม่มีรั้วกั้น การกักกันสัตว์ 6 เดือน จำเป็นจะต้องให้มีกรงหรือรั้วอย่างมิดชิด โดยไม่ให้สัตว์ออกนอกพื้นที่ไปกัดหรือแพร่กระจายเชื้อ จึงมีการประชุมคณะกรรมการหมู่บ้าน และเสียงส่วนใหญ่ เห็นพ้องที่จะให้มีการนำไปกำจัดและตรวจหาเชื้อตามระเบียบ

ด้าน น.ส.ฎายิน เพชรรัตน์ ผู้ก่อตั้ง sos animals Thailand ตั้งข้อสังเกตว่า การจัดการกับสุนัขมีขั้นตอนอยู่แล้วว่าต้องดำเนินการอย่างไร เพราะเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าไม่ได้รุนแรงถึงขั้นที่จะแพร่ทางอากาศ ดั้งนั้นจึงตั้งข้อสังเกตว่า มีการทำเกินกว่าเหตุหรือไม่ มีอะไรแอบแฝงหรือไม่ เพราะปศุสัตว์ดำเนินการทุกอย่างภายใน 24 ชม. ทั้งที่ควรมีการกำจัดเฉพาะสุนัขที่ติดเชื้อเท่านั้น ที่เหลือก็เป็นเพียงการกักพื้นที่ ไม่ใช่นำไปฆ่าทิ้งทั้งหมด