เจิ้งโจว, 9 ม.ค. (ซินหัว) — เมื่อไม่นานนี้ คณะนักโบราณคดีจีนได้ขุดพบฐานของบ้าน จำนวน 7 หลังที่มีอายุเก่าแก่ราว 6,000 ปีในมณฑลเหอหนานทางตอนกลางของจีน
สถาบันมรดกทางวัฒนธรรมและโบราณคดีมณฑลเหอหนาน ระบุว่าฐานบ้านดังกล่าวถูกพบบริเวณซากโบราณเป่ยหยางผิง ในเมืองหลิงเป่า และสามารถสืบย้อนได้ถึงยุควัฒนธรรมหย่างเสาตอนกลาง
อนึ่ง วัฒนธรรมหย่างเสา ซึ่งมีอายุย้อนไป 5,000-7,000 ปี เป็นวัฒนธรรมยุคหินใหม่ที่มีต้นกำเนิดบริเวณตอนกลางของแม่น้ำเหลือง
รายงานระบุว่าฐานบ้านที่พบมีหลายขนาด โดยฐานขนาดใหญ่สุดเป็นโครงสร้างกึ่งใต้ดินทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้ามุมโค้งมน ซึ่งปัจจุบันครอบคลุมพื้นที่ 172 ตารางเมตร และมีการคาดว่าแต่เดิมครอบคลุมพื้นที่เกือบ 250 ตารางเมตร
เว่ยซิง เทา รองผู้อำนวยการสถาบันฯ กล่าวว่าบ้านขนาดใหญ่ในยุควัฒนธรรมหย่างเสาตอนกลางมีโครงสร้างและขั้นตอนการก่อสร้างที่สลับซับซ้อน ทั้งมีการออกแบบพิถีพิถัน การคำนวณที่แม่นยำ และการจัดการการก่อสร้างที่เข้มงวด พร้อมเสริมว่าเทคนิคทางสถาปัตยกรรมในยุคนั้นค่อนข้างก้าวหน้าแล้ว
นอกจากนั้นยังมีการค้นพบงานไม้สภาพสมบูรณ์จำนวนมากที่ฐานบ้านขนาดใหญ่อีกแห่ง ซึ่งเว่ยระบุว่าหาพบได้ยากมากในโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์
“การค้นพบบ้านขนาดใหญ่ในยุควัฒนธรรมหย่างเสาเช่นที่พบบริเวณซากโบราณเป่ยหยางผิง ส่งมอบการสนับสนุนใหม่ๆ ต่อการศึกษาประเภท การออกแบบ และเทคนิคการก่อสร้างบ้านในยุคนั้น ควบคู่กับการวางรากฐานที่มั่นคงสำหรับการสำรวจโครงสร้างทางสังคมและอารยธรรมของยุควัฒนธรรมหย่างเสา” เว่ยกล่าว
(สถาบันมรดกทางวัฒนธรรมและโบราณคดีมณฑลเหอหนาน : หินโม่ของซากบ้านขนาดใหญ่ที่ซากโบราณเป่ยหยางผิง มณฑลเหอหนานทางตอนกลางของจีน)
(สถาบันมรดกทางวัฒนธรรมและโบราณคดีมณฑลเหอหนาน : ฐานบ้านที่ซากโบราณเป่ยหยางผิง มณฑลเหอหนานทางตอนกลางของจีน)
(สถาบันมรดกทางวัฒนธรรมและโบราณคดีมณฑลเหอหนาน : ซากบ้านขนาดใหญ่ที่ซากโบราณเป่ยหยางผิง มณฑลเหอหนานทางตอนกลางของจีน)