เวียงจันทน์, 6 ม.ค. (ซินหัว) — ลาวเปิดใช้โครงข่ายสายส่งไฟฟ้า ขนาด 500 กิโลโวลต์ ซึ่งเชื่อมโยงสถานีไฟฟ้าย่อยที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งในแขวงจำปาสักทางตอนใต้ของประเทศกับพื้นที่ชายแดนของกัมพูชา
ทองพัด อินทะวง ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ของลาว ซึ่งร่วมพิธีเปิดโครงข่ายข้างต้นเมื่อวันอังคาร (3 ม.ค.) ระบุว่าโครงการนี้จะมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาภาคพลังงานในลาว โดยเฉพาะศักยภาพการจ่ายไฟฟ้าแก่ประชาชนท้องถิ่น และเอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ
จันทบูน สุกาลุน กรรมการผู้จัดการของการไฟฟ้าลาว (EDL) เผยว่าสายส่งไฟฟ้าและสถานีไฟฟ้าย่อยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการระดับชาติ ซึ่งใช้เทคนิคสมัยใหม่ที่มีมูลค่าการลงทุนสูง โดยนับเป็นความคืบหน้าสำคัญในยุทธศาสตร์การส่งออกไฟฟ้าไปยังประเทศเพื่อนบ้านของลาว โดยเฉพาะกัมพูชา
โครงข่ายสายส่งไฟฟ้าดังกล่าวมีความยาวมากกว่า 200 กิโลเมตร และทอดผ่านเขตโขงของแขวงจำปาสัก รวมทั้งเขตสนามไซและเขตพูวงในแขวงอัตตะปือ โดยลาวได้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำหลายแห่งอันเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การเปลี่ยนประเทศเป็น “แบตเตอรี” ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ปัจจุบันลาวมีแหล่งพลังงาน 90 แห่ง พร้อมกำลังการผลิตติดตั้งรวมเกือบ 11,000 เมกะวัตต์ เมื่อนับถึงปี 2022 ซึ่งประกอบด้วยโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ 77 แห่ง โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 8 แห่ง โรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล 4 แห่ง และโรงไฟฟ้าถ่านหิน 1 แห่ง
ลาวมีแผนผลิตไฟฟ้าเพิ่มอีก 1,807 เมกะวัตต์ในช่วงปี 2021-2025 โดยแบ่งเป็นไฟฟ้าพลังน้ำร้อยละ 57 พลังงานถ่านหินร้อยละ 19 และพลังงานแสงอาทิตย์ร้อยละ 24 ทั้งวางแผนผลิตไฟฟ้าอีก 5,559 เมกะวัตต์ภายในปี 2030 โดยร้อยละ 77.59 จะมาจากไฟฟ้าพลังน้ำ ส่วนที่เหลือมาจากโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ ลม และถ่านหิน