เกษตรกร จ.กาฬสินธุ์พลิกผืนนาปลูกมันสำปะหลัง หวังได้กำไรดีกว่าทำนาปรัง
เมื่อวันที่ 6 ม.ค.66 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการติดตามบรรยากาศการดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพของประชาชนชาว จ.กาฬสินธุ์ ในช่วงฤดูหนาวคาบเกี่ยวฤดูร้อน พบว่าในส่วนของผู้ที่ประกอบอาชีพทำนาปรัง ซึ่งได้รับน้ำจากคลองชลประทาน โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาวหรือเขื่อนลำปาว เขต ต.นาเชือก ต.บัวบาน ต.ดอนสมบูรณ์ ต.คลองขาม อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ โดยทุกปีที่ผ่านมามีการปลูกพืชผักและทำนาปรังหรือนาข้าวในฤดูแล้งกันเป็นจำนวนมาก แต่สภาพที่พบเห็นในฤดูแล้งปีนี้ กลับพบว่ามีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง สลับกับนาข้าวเป็นบริเวณกว้าง ซึ่งหมายถึงพื้นที่ทำนาปรังได้ลดลงหลายร้อยไร่
นายสมคิด ภูถาดงา อายุ 51 ปี ชาวนาบ้านขาม ต.ดอนสมบูรณ์ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ ในฤดูแล้งหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวนาปีเสร็จ ตนและเพื่อนชาวนาในพื้นที่ใช้น้ำชลประทาน ก็จะมีการเตรียมดิน ปรับพื้นที่ทำการเกษตร บางคนทำเกษตรผสมผสาน ปลูกข้าวโพด พืชผักสวนครัวและทำนาปรัง แต่ในส่วนการทำเกษตรในฤดูแล้งปีนี้ กลับพบว่ามีเพื่อนชาวนาในพื้นที่และต่างตำบลหลายราย หันไปปลูกมันสำปะหลังกันเป็นจำนวนมาก เนื่องจากปลูกง่าย ดูแลง่าย ทนต่อสภาพอากาศที่แห้งแล้ง ไม่ต้องใช้น้ำ ใช้ปุ๋ยเคมีปริมาณน้อย และราคาขายผลผลิตคุ้มค่ากว่าขายข้าวเปลือก
นายสมคิด กล่าวอีกว่า ถึงแม้ราคาข้าวเปลือกเมื่อนำไปขายให้กับแหล่งรับซื้อจะกิโลกรัมละ 6-8 บาท ขณะที่ราคาขายผลผลิตหัวมันสำปะหลัง กิโลกรัมละ 3 บาท แต่ต้นทุนการผลิตน้อยกว่าปลูกข้าวนาปรัง และดูแลง่ายกว่าปลูกข้าว รวมทั้งการปลูกข้าวนาปรังใช้ทุนสูง จ้างรถไถ 2 รอบ ต้องมีน้ำหล่อเลี้ยงต้นข้าวอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะต้องใช้ปุ๋ยเคมีหลายกระสอบ ซึ่งมีราคาสูงกระสอบละกว่า 1,000 บาท นอกจากนี้ยังเกิดโรคระบาด และยังจะต้องจ้างรถเกี่ยวข้าวอีกด้วย ทำให้ต้นทุนการผลิตสูง ไม่คุ้มค่า ชาวนาขาดทุนซ้ำซาก ซึ่งตนเองยังไม่ได้นำข้าวเปลือกนาปีไปขายเลย เพราะกลัวขาดทุน เก็บไว้กินในครัวเรือน และขายในหมู่บ้านได้ราคาดีกว่า ทั้งนี้ จากสาเหตุทำนาปรังทุนสูง ขายข้าวเปลือกขาดทุน จึงเป็นสาเหตุให้ในฤดูแล้งปีนี้ชาวนาหลายราย ปรับเปลี่ยนจากอาชีพทำนาปรัง ไปปลูกมันสำปะหลัง หวังได้กำไรกว่าปลูกข้าวนาปรังดังกล่าว