"ศรีสุวรรณ" ยื่น สตง.สอบเปลี่ยนป้ายสถานีกลางบางซื่อ 33 ล้าน แพงเกินไปหรือไม่
เมื่อวันที่ 5 ม.ค.66 ที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)ขอให้ตรวจสอบการใช้จ่ายเงินแผ่นดิน กรณีการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ว่าจ้างบริษัทเอกชนจัดทำและเปลี่ยนป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อเป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์และตราสัญลักษณ์ของ รฟท.ในราคากว่า 33 ล้านบาท โคตรแพงเกินไปหรือไม่
นายศรีสุวรรณ ระบุว่า ทั้งนี้ พบข้อพิรุธหลายประการจากการที่ รฟท. ใช้วิธีการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีเฉพาะเจาะจง ทำให้ไม่เปิดโอกาสให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ทำให้ได้ผู้รับจ้างในราคาสูงเกินสมควร อาจเป็นการขัดหรือแย้งต่อ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ 2560 เพราะไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอน วิธีการตามที่ ม.11 กำหนดไว้ และไม่เข้าข่ายข้อยกเว้นที่จะใช้วิธีเฉพาะเจาะจงแต่อย่างใด อีกทั้งเป็นการขัดหรือแย้งต่อ ม.82 อย่างชัดเจน เพราะไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอน วิธีการที่กฎหมายให้ใช้วิธีประกาศเชิญชวนทั่วไปและวิธีการคัดเลือกตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องทำเสียก่อน แม้ทาง รฟท.จะออกมาแถลงชี้แจงเมื่อวันก่อน ก็ไม่มีเหตุผลหรือน้ำหนักที่เพียงพอที่จะเข้าข่ายข้อยกเว้นเกี่ยวกับการที่ต้องมีความจำเป็นเร่งด่วน และไม่เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ และหากจะล่าช้าออกไปก็ไม่ทำให้กิจการของ รฟท.เสียหาย หรือล้มละลาย หรือล่มจมแต่อย่างใด และการจัดทำและติดตั้งป้าย ไม่มีเหตุผลทางเทคนิคที่ใช้เป็นข้ออ้างเพราะมีกิจการร้านค้า บริษัท หรือผู้ประกอบการมากมายในประเทศไทย ที่สามารถจัดทำและติดตั้งป้ายประเภทดังกล่าวได้ นอกจากนั้น คณะกรรมการกำหนดราคากลางทั้ง 6 คนมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการนำข้อมูลผู้ประกอบการอื่นใดในประเทศนี้ มีมาเทียบราคาหรือไม่ และควรที่จะเปิดเผยรายงานการประชุมของคณะกรรมการดังกล่าว หากจะพิสูจน์ว่าการดำเนินงานโปร่งใสและเป็นไปตามกฎหมาย
นายศรีสุวรรณ กล่าวด้วยว่า ที่สำคัญ ชื่อสถานีดังกล่าวได้รับพระราชทานชื่อใหม่มาตั้งแต่เดือน ก.ย.2565 แต่เหตุใดจึงมีการเร่งรีบดำเนินการในเดือน ธ.ค.2565 แล้วมาใช้วิธีการประมูลแบบเฉพาะเจาะจงทั้ง ๆ ที่ รฟท.สามารถเลือกใช้การประมูลโดยให้มีคู่แข่งในการประมูล ยกเว้นจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนรายใดรายหนึ่งเป็นการเฉพาะหรือไม่ เพราะสุดท้ายผู้ที่ได้รับงานดังกล่าวพบว่า เป็นผู้ซึ่งเคยเป็นคู่สัญญาการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มาแล้วไม่ต่ำกว่า 8 โครงการ มูลค่างานรวม 52,512.028 ล้านบาท ซึ่งการใช้อำนาจดังกล่าวอาจเข้าข่ายฝ่าฝืน ม.4 ประกอบ ม.11 ม.12 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับ การเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ 2542 หรือกฎหมายฮั้วประมูลได้ สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงต้องนำความมาร้องให้ สตง.ตรวจสอบตามประเด็นที่กำหนด หากพบความผิดปกติให้ส่งเรื่องไปให้ ป.ป.ช.ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ ม.221 ด้วย