กลุ่มทอผ้าไหมพื้นบ้านกาฬสินธุ์อนุรักษ์ทอมือผ้าซิ่นสร้างมูลค่าเพิ่ม (มีคลิป)

2023-01-05 11:06:20

กลุ่มทอผ้าไหมพื้นบ้านกาฬสินธุ์อนุรักษ์ทอมือผ้าซิ่นสร้างมูลค่าเพิ่ม (มีคลิป)

Advertisement

กลุ่มทอผ้าไหมพื้นบ้าน จ.กาฬสินธุ์อนุรักษ์ทอมือผ้าซิ่นลายโบราณ ลายประยุกต์ สืบสานภูมิปัญญา สร้างมูลค่าเพิ่มเป็นของขวัญปีใหม่

เมื่อวันที่ 5 ม.ค.66 ผู้สื่อข่าว  จ.กาฬสินธุ์ รายงานว่า  จากการติดตามบรรยากาศหลังเทศกาลปีใหม่ ใน จ.กาฬสินธุ์ ที่ส่วนใหญ่ลูกหลานเดินทางกลับมาเยี่ยมบ้านในช่วงหยุดยาวเทศกาลปีใหม่ หลายคนกำลังเตรียมตัวเดินทางกลับไปทำงานตามปกติ ซึ่งจะหาของขวัญหรือของฝาก ไปมอบให้คนที่รักและนับถือตามธรรมเนียม โดยเฉพาะผ้าซิ่น ผ้าโสร่ง ซึ่งเป็นเครื่องนุ่งห่มประดับกายที่มีคุณค่า เหมาะเป็นของฝากมาทุกเทศกาลและทุกยุคทุกสมัย  ก็ยังได้รับความนิยมไม่เสื่อมคลาย โดยผ้าซิ่นไหมแท้ ที่ผลิตด้วยการทอมือสืบสานมาตั้งแต่บรรพบุรุษโบราณของกลุ่มสตรีแม่บ้าน ผู้สูงอายุ ชาวบ้านโนนชาด ต.หนองแวง อ.สมเด็จ และบ้านหนองห้าง บ้านหนองแก่นทราย ต.หนองช้าง อ.สามชัย จ.กาฬสินธุ์


นางประไพ บุญฤทธิ์ อายุ 47 ปี อยู่บ้านเลขที่ 41 บ้านโนนชาด ต.หนองแวง อ.สมเด็จ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า การทอผ้าซิ่นไหมในพื้นที่ ถือเป็นมรกดทางภูมิปัญญาชาวอีสาน สืบสานมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ทำมือเองทุกขั้นตอนตั้งแต่ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม กระทั่งเข้าสู่กระบวนการผลิตเส้นไหม สาวไหม ย้อมไหม กรอไหม ออกแบบลายไหม ทอผ้าซิ่นสำหรับสตรีสวมใส่ รวมทั้งทอโสร่งไหมสำหรับสุภาพบุรุษสวมใส่ อย่างไรก็ตาม จากสภาพสังคมและวิถีชีวิตเปลี่ยนไป จากที่เคยเลี้ยงไหมและทอผ้าไหมทุกครัวเรือนก็ลดลง ปัจจุบันในหมู่บ้านเหลือเพียง 43 ราย จึงมีการตั้งเป็นกลุ่มทอผ้าไหมพื้นบ้าน เพื่ออนุรักษ์และสืบสาน ดำเนินการผลิตทุกกระบวนการ มีเครือข่ายหลายหมู่บ้าน หลายอำเภอ ประดิษฐ์ทั้งลายโบราณ ลายประยุกต์ ใช้เวลาว่างหลังว่างเว้นจากการทำนาและพืชไร่เป็นอาชีพเสริม และใช้ช่วงเวลาเลี้ยงหลานเฝ้าบ้านประดิษฐ์ลายและทอผ้า สำหรับรายได้เดือนละประมาณ 3,000-5,000 บาท


ด้านนางจันทร ปัญจิตร อายุ 73 ปี อยู่บ้านเลขที่ 91 หมู่ 5 บ้านหนองแก่นทราย ต.หนองช้าง อ.สามชัย จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ตนเรียนรู้เทคนิคการทอผ้ามาตั้งแต่อ่ายุ 11 ขวบ โดยศึกษาเรียนรู้จากคุณแม่และพี่สาว เกิดการซึมซับประทับใจ รู้สักอบอุ่น และรัก หวงแหนในวิชาชีพทอผ้าซิ่นไหม เพราะเป็นงานที่ได้อยู่กับครอบครัว ได้ช่วยพ่อแม่ทำงาน โดยไม่ต้องพลัดพรากจากกัน เป็นงานที่ไม่เหนื่อยและมีรายได้ เพียงแค่อาศัยความเพียรพยายาม ผ้าซิ่น 1 ผืน ใช้เวลา 2-3 วันทอเสร็จ จำหน่ายผืนละ 3,000-5,000 บาท ปัจจุบันในพื้นที่ไม่ค่อยมีคนอนุรักษ์กันแล้ว อาจจะเรียกได้ว่ามีเพียงครอบครัวตนที่ยืนหยัดทอผ้าซิ่นไหม เนื่องจากหันไปทอผ้าไหมแพรวากัน


นางจันทรกล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ผ้าซิ่นไหมก็ยังเป็นผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาที่มีคุณค่า มีลูกค้ากลุ่มเฉพาะ เหมาะเป็นของฝากของกำนัลทุกเทศกาล สวมใส่ก็ได้ หรือจะตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าสวมใส่ก็เข้ารูป สวยงาม ใส่ได้ทุกกาลโอกาส ในช่วงนี้มีลูกค้ามาติดต่อขอซื้อเป็นจำนวนมาก เพื่อเป็นของฝากขวัญกลับที่ทำงานหลังปีใหม่ สำหรับตนทอผ้าซิ่นไหมทั้งลายโบราณและประยุกต์กว่า 60 ลาย ผ้าซิ่นไหมที่ทอได้ ส่วนใหญ่จำหน่าย และแบ่งเหลือเก็บไว้เป็นมรดกให้ลูกหลานส่วนหนึ่ง ทั้งนี้ มีซิ่นไหมจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นมรดกตกทอดจากคุณแม่ อายุผ้าประมาณ 100 ปี ซึ่งตนตั้งใจจะเก็บไว้เป็นมรดกให้ลูกหลานสืบไป