สือเจียจวง, 24 ธ.ค. (ซินหัว) — เมื่อไม่นานนี้ ชาวบ้านที่กำลังปรับปรุงบ้านพักของตนเองในหมู่บ้านจงหลู่ อำเภอไป่เซียง มณฑลเหอเป่ยทางตอนเหนือของจีน ได้ค้นพบศิลาจารึกรูปปั้นโบราณ
ทีมผู้เชี่ยวชาญสันนิษฐานว่าศิลาจารึกรูปปั้นนี้ ซึ่งกว้าง 70 เซนติเมตร สูง 148 เซนติเมตร และหนา 18 เซนติเมตร มาจากยุคราชวงศ์ฉีเหนือตอนปลาย (ปี 550-577) โดยไม่สามารถระบุปีที่แน่นอนได้
ด้านบนของศิลาจารึกมีการแกะสลักพระพุทธรูป จำนวน 2 องค์ ประดิษฐานอยู่ภายในโพรงคู่ ทว่าพระพุทธรูปมีสภาพเสียหายเกินกว่าจะจำแนกลักษณะรายละเอียดต่างๆ
ด้านล่างของศิลาจารึกมีการแกะสลักข้อความ จำนวน 23 แถว ซึ่งไม่สามารถอ่านตีความทั้งหมดเพราะมีสภาพทรุดโทรมตามกาลเวลา
อย่างไรก็ดี ข้อความที่อ่านออกบางส่วนกล่าวถึงการกระทำของสมาชิกตระกูลหลู่ในหมู่บ้านจงหลู่หลายคน ซึ่งประกอบอาชีพรับราชการและทำงานรับใช้ประชาชน
เกิ่งเสี่ยวหนิง ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองวัตถุทางวัฒนธรรมอำเภอไป่เซียง เผยว่าการค้นพบศิลาจารึกนี้มอบข้อมูลสำหรับการศึกษาพัฒนาการของวัฒนธรรมพุทธศาสนาในจีนอย่างมาก
(ภาพจากผู้ให้สัมภาษณ์ : เจ้าหน้าที่สถาบันคุ้มครองวัตถุทางวัฒนธรรมอำเภอไป่เซียง มณฑลเหอเป่ยทางตอนเหนือของจีน ตรวจดูศิลาจารึกที่ขุดพบใหม่)