"บล็อกหลัง" ต่างจาก "ดมยาสลบ" อย่างไร ?

2022-12-23 11:17:47

"บล็อกหลัง" ต่างจาก "ดมยาสลบ" อย่างไร ?

Advertisement

"บล็อกหลัง" ต่างจาก "ดมยาสลบ" อย่างไร ?

หลายคนยังคงมีความสงสัยว่าการผ่าตัดด้วยการ "ดมยาสลบ" เหมือนหรือแตกต่างจากการ "บล็อกหลัง" อย่างไร

เริ่มจากการใช้ยาสลบ สามารถทำได้ทั้งการกิน ฉีด หรือดมแก๊ส เพื่อให้ยาไปออกฤทธิ์กับสมองให้หลับและกดการรับรู้ของคนไข้ โดยจะใช้ในกรณีผ่าตัดใหญ่ การผ่าตัดที่ส่งผลต่อการหายใจ ผ่าสมอง ผ่าช่องท้อง ผ่าตัดกระดูกที่มีการเจ็บปวดมาก หรือในกรณีที่คนไข้มีความวิตกกังวลเยอะ การดมยาสลบก็เป็นทางเลือกหนึ่ง เพื่อให้แพทย์ทำงานได้อย่างสะดวกและปลอดภัย

โดยระหว่างการผ่าตัดขณะที่ผู้ป่วยหลับ จะต้องใส่อุปกรณ์ช่วยหายใจเนื่องจากยาจะไปกดการหายใจ ขณะเดียวกันวิสัญญีแพทย์จะคอยวัดชีพจร ออกซิเจน และความดันโลหิตอยู่เสมอเพื่อความปลอดภัยขณะผ่าตัด ส่วนผลข้างเคียงจากการดมยาสลบนั้น จะมีทั้งอาการคลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ เจ็บคอ ระคายคอ เนื่องจากมีการใส่อุปกรณ์ช่วยหายใจ มีการเจ็บปวดบริเวณที่ผ่าตัด ง่วงนอน อ่อนเพลียไม่มีแรง สับสน มึนงงหรือสูญเสียความทรงจำชั่วคราว

ส่วนการบล็อกหลังนั้น คือ การใช้ยาชาฉีดไปที่ช่องไขสันหลัง เพื่อให้ยาชาไปออกฤทธิ์ที่ไขสันหลังและเส้นประสาท ทำให้รู้สึกชาตั้งแต่ใต้สะดือลงไปถึงขาทั้ง 2 ข้าง เพื่อให้ทำการผ่าตัดบริเวณนั้นได้ โดยครอบคลุมการผ่าตัดตั้งแต่ใต้สะดือลงไปจนถึงเท้า รวมทั้งการคลอดลูก ผ่าตัดไส้ติ่ง

ด้านผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น มักเกิดในคนที่มีโรคร่วม เช่น กินยาต้านเกล็ดเลือด ต้านการแข็งตัวของเลือด หรือมีความผิดปกติของไขสันหลังหรือกระดูกสันหลังร่วม ส่วนผลข้างเคียงอื่น ๆ เช่น ปัสสาวะออกยาก ความดันเลือดต่ำ คลื่นไส้อาเจียน มีเลือดออกรอบกระดูกสันหลัง ปวดบริเวณที่ถูกฉีดยา ติดเชื้อที่กระดูกสันหลัง ปวดศีรษะ คันตามใบหน้า เป็นต้น

ส่วนข้อดีข้อเสียของการผ่าตัดทั้งสองแบบนั้นจะแตกต่างกันไป เช่น ในกรณีที่ผู้ป่วยมีความกังวลสูง ไม่ต้องการได้ยินเสียงหรือรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นในห้องผ่าตัด การใช้วิธีดมยาสลบจะทำให้แพทย์ทำงานได้ง่ายกว่า แต่หากอยู่ในจุดที่สามารถบล็อกหลังได้ และผู้ป่วยไม่มีความกังวลมาก วิสัญญีแพทย์มักจะแนะนำให้ผู้ป่วยบล็อกหลังมากกว่า เพราะจะทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้ไว และลดอาการปวดได้มากกว่า เนื่องจากยาชายังออกฤทธิ์ไปอีกระยะนึงหลังผ่าตัด นอกจากนั้น ยังลดการเสียเลือดระหว่างผ่าตัดและลดอาการลิ่มเลือดอุดตันของเส้นเลือดขาได้ดีกว่าดมยาอีกด้วย

ถึงอย่างนั้น การตัดสินว่าจะใช้วิธีการผ่าตัดแบบไหน จะต้องมีการพูดคุยกันระหว่างแพทย์ผู้ทำการผ่าตัด และวิสัญญีแพทย์เพื่อเตรียมการ โดยนอกจากชนิดของการผ่าตัดแล้ว จะต้องพิจารณาเรื่อง โรคประจำตัว ประวัติการรักษา ยาที่ใช้ประจำ รวมถึงความกังวลของผู้ป่วยเอง ก่อนนำเสนอผู้ป่วย และชี้แจงให้เห็นถึงข้อดีข้อเสียของการผ่าแต่ละแบบเพื่อหาทางเลือกที่ปลอดภัยที่สุด

อ.พญ.ลลิสา แซ่เอี้ยะ ภาควิชาวิสัญญีวิทยา

คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล