เฉิงตู, 15 ธ.ค. (ซินหัว) — เมื่อวันพุธ (14 ธ.ค.) สถาบันวิจัยวัตถุทางวัฒนธรรมและโบราณคดีนครเฉิงตู มณฑลซื่อชวน (เสฉวน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน เปิดเผยการค้นพบซีกไผ่และซีกไม้จากยุคราชวงศ์ฉิน (221-207 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ซึ่งถูกสลักคำภาษาจีนว่า “เฉิงตู”
ถังปิน เจ้าหน้าที่ประจำพื้นที่ขุดค้นถนนจื้อคู่เจียของนครเฉิงตู กล่าวว่าสถาบันฯ ดำเนินการขุดค้นพื้นที่แห่งนี้ระหว่างเดือนเมษายน-ธันวาคมปีก่อน นำไปสู่การค้นพบซีกไผ่และซีกไม้สภาพสมบูรณ์ที่มีการเขียนข้อความชัดเจน จำนวน 53 อัน
นอกจากนั้นมีการค้นพบซีกไผ่และซีกไม้อีก 212 อัน โดยซีกไผ่อันหนึ่งปรากฏคำภาษาจีน “เฉิงตู” ชัดเจน ซึ่งหากอิงจากรูปแบบการเขียนตัวอักษร ซีกไผ่และซีกไม้เหล่านี้อาจมาจากยุคจ้านกั๋วหรือยุครณรัฐตอนปลาย (475-221 ปีก่อนคริสต์ศักราช) จนถึงราชวงศ์ฉิน
ขณะเดียวกันคณะนักโบราณคดียังค้นพบอาวุธทำจากทองแดงขึ้นรูปจำนวนมากและเครื่องปั้นดินเผาจำนวนหนึ่งจากพื้นที่ขุดค้น
จั่วจื้อเฉียง ผู้ช่วยนักวิจัยประจำสถาบันฯ ระบุว่าซีกไผ่และซีกไม้ที่ค้นพบครั้งนี้ถือว่าเก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยค้นพบในเฉิงตู ซึ่งมีข้อมูลอย่างระบบการบริหารจัดการ ขุนนาง และภูมิศาสตร์ในประวัติศาสตร์ ทำให้มีนัยสำคัญทางประวัติศาสตร์อย่างยิ่ง รวมถึงคุณค่าด้านอักษรวิจิตรและวัฒนธรรมอย่างมาก
(แฟ้มภาพซินหัว : ซีกไผ่ถูกสลักคำภาษาจีนว่า “เฉิงตู”)
(แฟ้มภาพซินหัว : จั่วจื้อเฉียง ผู้ช่วยนักวิจัยประจำสถาบันวิจัยวัตถุทางวัฒนธรรมและโบราณคดีนครเฉิงตู มณฑลซื่อชวนทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน)
(แฟ้มภาพซินหัว : การเก็บรักษาซีกไผ่จากยุคราชวงศ์ฉิน)