นายกฯ หารือผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคแสวงหาแนวทางส่งเสริมการเจริญเติบโตท่ามกลางความท้าทาย

2022-11-19 00:05:15

นายกฯ หารือผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคแสวงหาแนวทางส่งเสริมการเจริญเติบโตท่ามกลางความท้าทาย

Advertisement

นายกฯ หารือผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค แขกพิเศษ ช่วงอาหารกลางวัน ร่วมกันแสวงหาแนวทางส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ครอบคลุมท่ามกลางความท้าทาย เพิ่มพูนความร่วมมือเพื่อลดช่องว่างการพัฒนา เดินไปข้างหน้าโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

เมื่อเวลา 13.50 น. วันที่ 18 พ.ย. 65 ที่ห้องประชุม Plenary Hall 1 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิต์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธานการหารือระหว่างผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคกับแขกพิเศษในช่วงอาหารกลางวัน ภายใต้หัวข้อ “การส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ครอบคลุม ในช่วงเศรษฐกิจถดถอยและวิกฤติเงินเฟ้อ” โดยภายหลังเสร็จสิ้น นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญจากการหารือ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงรายงานภาพรวมเศรษฐกิจโลกของ IMF ประจำปี 2565 ซึ่งคาดการณ์ว่า การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกจากนี้จนถึงปี 2566 จะชะลอตัว ระดับเงินเฟ้อยังคงเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วและเศรษฐกิจที่กำลังพัฒนาในทิศทางและระดับที่ต่างกัน ตลอดจนส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ทำให้ช่องว่างของความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจนยิ่งกว้างขึ้น โดยนายกรัฐมนตรีเห็นว่า การสร้างการเติบโตหลังโควิด-19 ที่ครอบคลุมและยั่งยืนมากขึ้น จะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการบรรเทาผลกระทบต่อกลุ่มเปราะบาง และช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับรากฐานทางเศรษฐกิจและสังคม

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้รับฟังและแลกเปลี่ยนมุมมองร่วมกับผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคและแขกพิเศษ เพื่อหารือแนวทางส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ครอบคลุมท่ามกลางสภาวะเงินเฟ้อและเศรษฐกิจถดถอย รวมถึงแนวทางเพิ่มพูนความร่วมมือเพื่อลดช่องว่างการพัฒนา และความเหลื่อมล้ำภายในและระหว่างเขตเศรษฐกิจ

โดยภายหลังการแลกเปลี่ยนมุมมองของผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคและแขกพิเศษ นายกรัฐมนตรีกล่าวสรุปการหารือ โดยผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคและแขกพิเศษ เห็นพ้องกันว่า ท่ามกลางสถานการณ์ความท้าทายต่าง ๆ ยังมีปัจจัยบวกจากการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล และการค้าการลงทุนที่คำนึงถึงความสมดุลระหว่างธุรกิจกับสิ่งแวดล้อม โดยคำนึงถึงการกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจไปสู่คนทุกกลุ่ม รวมถึงการขจัดความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวน เพื่อนำไปสู่การเติบโตอย่างมั่นคงในระยะยาว ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเห็นความจำเป็นในการพัฒนาเครือข่ายรองรับทางสังคม การส่งเสริมการเข้าถึงโอกาสทางธุรกิจของ MSMEs ส่งเสริมบทบาทของสตรี รวมถึงการสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ โดยนายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า การหารือในครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นการส่งเสริมความร่วมมือที่สร้างสรรค์ระหว่างกัน ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ท้าทาย