"สุพันธุ์"ระบุค่าเงินบาทแข็งขึ้น ต้นทุนพลังงานต่ำลง จี้รัฐบาลลดค่าเอฟที
เมื่อวันที่ 18 พ.ย.65 นายสุพันธุ์ มงคลสุธี รองหัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย ประธานคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจให้สัมภาษณ์กรณีค่าเงินไทยแข็งขึ้นจากตลาดพันธบัตร และ อัตราการค้าปลีกที่ดีขึ้น ว่าเมื่อค่าเงินไทยอยู่ในช่วงแข็งค่าขึ้น ควรถือโอกาสนี้ ลดค่าเอฟที(FT) ไฟฟ้าลง เพราะในระยะเวลาเพียง 1 สัปดาห์ ค่าเงินบาทไทยแข็งขึ้น 6-7 % แต่รัฐบาลยังคงค่าเอฟทีไว้ที่ระดับ 93.43 สตางค์ ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ระบุว่าที่ต้องขึ้นค่าเอฟทีใน 4 เดือนสุดท้ายของปี 2565 สาเหตุมาจากต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น แต่ในขณะนี้เมื่อค่าเงินไทยแข็งขึ้น ต้นทุนพลังงานเองก็ย่อมต่ำลงไปด้วย แต่รัฐบาลยังไม่มีทีท่าว่าจะปรับลดค่าเอฟทีลง ตนจึงอยากจะขอให้รัฐบาลรีบพิจารณาเรื่องดังกล่าว เพราะค่าไฟเป็นส่วนสำคัญของปัจจัยการผลิต การที่ค่าไฟลดลงจะส่งผลดีกับธุรกิจเพราะจะทำให้ต้นทุนการผลิตต่างๆถูกลงทั้งห่วงโซ่อุปทาน ทั้งในด้านการขนส่ง และ การผลิต เมื่อต้นทุนการผลิตต่ำลงก็จะช่วยพยุงราคาสินค้าอีกหลายรายการที่กำลังจ่อจะขึ้นราคาได้ ทำให้ของไม่แพงขึ้น รวมถึงจะส่งผลดีต่อประชาชนเป็นวงกว้างเพราะจะทำให้ค่าครองชีพลดลง
นายสุพันธุ์ กล่าวต่อว่า การที่เงินบาทไทยแข็งค่าขึ้นนั้น จะช่วยลดปัญหาเงินเฟ้อที่ส่วนหนึ่งเองก็มาจากต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น เมื่อเงินบาทไทยกำลังแข็งตัวจึงควรใช้โอกาสนี้ ลดค่าเอฟที เพื่อช่วยลดอัตราเงินเฟ้อลง เป็นการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนลง ก่อนหน้านี้ พรรคไทยสร้างไทยได้ออกมาเปิดสัญญาของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต โดยเชื่อมโยงว่า สาเหตุหนึ่งที่การไฟฟ้ามักจะกล่าวอ้างถึงเวลาที่ขึ้นค่าเอฟที คือ ปัจจัยการผลิตที่ควบคุมไม่ได้ คือเรื่องของต้นทุนพลังงาน อัตราแลกเปลี่ยน และอัตราค่าสำรองไฟฟ้า โดยระบุว่าปัจจุบันประเทศไทยมีอัตราการสำรองไฟฟ้าสูงถึง 60 % ในขณะที่ค่ามาตรฐานโลกจะอยู่ประมาณ 20-25% เท่านั้น โดยการไฟฟ้าได้จ่ายค่าสำรองไฟฟ้า ให้กับโรงงานที่ยังไม่ได้ผลิตไฟฟ้าแม้แต่หน่วยเดียวจำนวน 7 แห่ง เป็นวงเงินกว่า 8,000 ล้านบาทไปแล้ว
นายสุพันธุ์ กล่าวอีกว่าตอนนี้ประชาชนเดือดร้อนกันมาก จากการบริหารงานที่ผิดผลาดของรัฐ เพราะนอกจากจะจ่ายเงินค่าสำรองไฟฟ้าที่ผิดผลาดโดยที่ประเทศไม่ได้ใช้ไฟฟ้ามาสักหน่วยไปแล้ว ขณะนี้ต้นทุนพลังงานเองก็ปรับลดลง อัตราแลกเปลี่ยนและค่าเงินก็แข็งขึ้น จึงไม่มีข้ออ้างที่จะคงค่าเอฟทีไว้ที่ระดับสูงขนาดนี้อีกต่อไปแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงควรเร่งพิจารณาปรับลดค่าเอฟทีลงโดยทันที เพราะจะเกิดผลประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนและเศรษฐกิจรวมทั้งธุรกิจก็จะสามารถเดินหน้าต่อได้