“น้าแอ๊ด"มาแล้วหลัง"เล็ก คาราบาว"เฉ่งเพื่อนร่วมวง เตือนใช้โซเชียลมีสติปัญญาสมาธิ

2018-01-26 11:50:21

“น้าแอ๊ด"มาแล้วหลัง"เล็ก คาราบาว"เฉ่งเพื่อนร่วมวง เตือนใช้โซเชียลมีสติปัญญาสมาธิ

Advertisement

“แอ๊ด คาราบาว”เคลื่อนไหวแล้วหลัง “เล็ก คาราบาว”แฉพฤติกรรมบัดซบเพื่อนร่วมวง โพสต์ปริศนาธรรมคำสอนของ “สมเด็จพระสังฆราช” ชี้ถ้าเรามีธรรมะอยู่ในใจของเรามากๆ เราจะให้อภัยซึ่งกันและกันได้มากขึ้น เมื่อมีการให้อภัยให้กันได้มากขึ้น ความตึงเครียดในใจก็จะไม่มี ระบุการมีชีวิตในโลกโซเชียลมีเดียมีข้อดีก็ย่อมมีข้อเสีย ดังนั้นการใช้โซเชียลมีเดียจึงต้องใช้สติ ปัญญา ถ้ายิ่งมีสมาธิด้วยยิ่งดีใหญ่



เมื่อวันที่ 26 ม.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจาก "เล็ก คาราบาว" หรือ ปรีชา ชนะภัย ได้โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก “Lek Carabao Solo” ระบุถึงเพื่อนร่วมวงคาราบาวคนหนึ่ง พร้อมร่ายยาวถึงพฤติกรรมไม่เหมาะสม ผู้สื่อข่าวได้พยายามโทรศัพท์สัมภาษณ์ “แอ๊ด คาราบาว” หรือ ยืนยง โอภากุล หัวหน้าวงคาราบาว แต่ไม่สามารถติดต่อได้ อย่างไรก็ตาม“แอ๊ด คาราบาว” ได้โพสต์เฟซบุ๊ก “Add Carabao” พร้อมคำสอนของ “สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก” ที่ระบุว่า “ถ้าเรามีธรรมะอยู่ในใจของเรามากๆ เราจะให้อภัยซึ่งกันและกันได้มากขึ้น เมื่อมีการให้อภัยให้กันได้มากขึ้น ความตึงเครียดในใจก็จะไม่มี” และคำสอนของ “ท่านพุทธทาส” ระบุว่า “คราวหนึ่งมีคนไปทูลถามพระพุทธเจ้า โดยทูลว่า พระพุทธวจนะทั้งหมดที่ตรัส ถ้าจะสรุปให้สั้นเพียงประโยคเดียวได้หรือไม่จะว่าอย่างไร พระพุทธเจ้าท่านว่าได้ พระองค์ตรัสว่า สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ แปลว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น แล้วพระองค์ก็ย้ำลงไปอีกทีหนึ่งว่า ถ้าใครได้ฟังความข้อนี้คือได้ฟังทั้งหมดในพระพุทธศาสนา ถ้าได้ปฏิบัติข้อนี้ก็คือได้ปฏิบัติทั้งหมดในพระพุทธศาสนา ถ้าได้รับผลจากการปฏิบัติข้อนี้ก็คือได้รับผลทั้งหมดในพระพุทธศาสนา”



“แอ๊ด คาราบาว” ยังโพสต์ข้อความสรุปว่า “การมีชีวิตในโลกโซเชียลมีเดียนี้ก็ดีหลายอย่าง อย่างหนึ่งที่แน่ๆคือ ช่วยให้ผมได้มีเครื่องมือสื่อสารกับแฟนๆเป็นของตนเอง แต่มีข้อดีก็ย่อมมีข้อเสีย ฉะนั้นการใช้โซเชียลมีเดียจึงต้องใช้สติ ปัญญา ถ้ายิ่งมีสมาธิด้วยยิ่งดีใหญ่ ผมขอนำบทความและรูปภาพที่คุณจุ๊ส่งมาให้ผมมาส่งต่อ ผมเห็นว่ามีประโยชน์มากต่อผู้ที่กำลังฝึกฝนตนเองตามแนวทางพระพุทธศาสนา เชิญอ่านกันได้เลยครับพี่น้อง ถือก็หนัก วางก็เบา พระบวชใหม่รูปหนึ่งกำลังเดินบิณฑบาต ผ่านชุมชนแห่งหนึ่งซึ่งมีผู้คนจอแจ ขณะเดินสำรวมก้มหน้าแต่พอประมาณ เพื่อเดินผ่านชุมชนไปอย่างช้าๆนั้นเอง จู่ ๆ ก็มีชายวัยกลางคนคนหนึ่งใส่สูทผูกเนคไท สวมแว่นตาดำเดินเข้ามาหาท่าน พร้อมทั้งชี้หน้าด่าท่านอย่างสาดเสียเทเสีย พระรูปนั้นตกตะลึง รีบเดินหนี แต่แม้ท่านจะเดินหนีชายคนนั้นพ้นแล้ว แต่เสียงด่าของเขายังคงก้อง อยู่ในโสตประสาทของท่านอย่างชัดถ้อยชัดคำเมื่อกลับถึงวัด พลันที่คิดถึงเหตุการณ์ ที่ตนถูกชี้หน้าด่ากลางฝูงชน พระหนุ่มก็รู้สึกโกรธจนหน้าแดงก่ำ ยิ่งคิดต่อไปว่าชายคนนั้นมาชี้หน้าด่าตนซึ่งเป็นพระและตนเองก็จำได้ว่า ตั้งแต่บวชเข้ามาในพระธรรมวินัย ก็ยังไม่เคยทำอะไรผิด





คิดมาถึงขั้นว่า ตนไม่ผิด แต่ทำไมตนต้องถูกด่า ยิ่งเจ็บ ยิ่งแค้น วันที่ท่านถูกด่ากลางชุมชนนั้นเป็นวันศุกร์ แต่ตกถึงเช้าวันจันทร์ท่านก็ยังไม่หายโกรธ เช้าวันจันทร์นั้น พระบวชใหม่ประคองบาตร เดินผ่านชุมชนนั้นเหมือนเดิม ท่านพยายามสอดส่ายสายตามองหาชายคนเดิม ตั้งใจว่าวันนี้จะต้องถามให้รู้เรื่อง ว่าเหตุจึงมาชี้หน้าด่าตนเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว ยิ่งพยายามค้นหา กลับยิ่งไม่พบ ท่านจึงเดินสำรวจรับอาหารบิณฑบาตต่อไป จนได้อาหารเต็มบาตรแล้วจึงเดินกลับวัด ระหว่างทางกลับวัด โดยไม่คาดฝัน พระหนุ่มทอดสายตาไปพบกับชายคนหนึ่งสวมสูท ผูกเทคไทใส่แว่นตาดำ ท่านอุทานในใจว่า“อ๋อ เจ้าคนนี้เองที่ด่าฉันเมื่อวันศุกร์” ภาพที่เห็นก็คือ ชายแต่งตัวดีคนนั้น นอนหลับหมดสติอยู่ข้างศาลเจ้าแห่งหนึ่ง ข้าง ๆ ตัวเขามีขวดเหล้าล้มกลิ้งอยู่ พอท่านพยายามเดินเข้าไปมองใกล้ ๆ เขาจึงเริ่มรู้สึกตัวตื่นขึ้นมา พอเห็นท่านเท่านั้นชายคนนั้นก็ร้องขึ้นมาว่า “ขอเดชะ พระอาญาไม่พ้นกล้าฯ บัดนี้พระองค์ทรงกลับมาครองอยุธยาอีกครั้งหนึ่งแล้วกระนั้นหรือ...” ว่าแล้วก็ลุกขึ้นรำเฉิบ ๆ


พลันที่ท่านประเมินว่าชายแต่งตัวดี คนที่ชี้หน้าด่าท่านเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว เป็นคนบ้าที่มาในร่างของคนแต่งตัวดีเท่านั้นเองความโกรธที่ก่อตัวเป็นเมฆดำทะมึน อยู่ในใจของท่านมานานถึงสามวัน ก็พลันอันตรธานไปอย่างง่ายดายชนิดไร้ร่องรอยทำไมเราจึงปล่อยวางต่อคนบ้าได้ง่ายดายเหลือเกิน แต่กับคนปกติทำไม เราจึงมีความรู้สึกว่าต้องเอาเรื่องราวให้ถึงที่สุด“สัพเพ ธัมมา นาลัง อะภินิเวสายะ ใดใดในโลกอันบุคคลไม่ควรยึดติดถือมั่น” ทำไมจึงไม่ควรยึดติดถือมั่น เพราะที่ใดมีความถือมั่น ที่นั่นก็มีความทุกข์ ความทุกข์ขยายตัวตามระดับความเข้มข้นของความยึดติด ยึดมาก ติดมาก จึงทุกข์มาก ไม่ยึด ไม่ติด จึงไม่ทุกข์ ความไม่ยึดติดถือมั่น กล่าวอีกอย่างหนึ่งว่า “ความปล่อยวาง” ทำไมจึงต้องปล่อยวาง เพราะทุกอย่าง “มีความว่าง” มาแต่เดิม คนที่หลงกอด “ความว่าง” โดยคิดว่าเป็น “ความมี” ทำไมจะไม่ทุกข์




ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊ก : Add Carabao,Lek Carabao Solo