ชาวบ้าน จ.ชัยภูมิออกหา "เทา" มาทำลาบกิน พร้อมขายสร้างรายได้งาม
เมื่อวันที่ 13 พ.ย.65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านบ้านภูเขาทอง ต.โคกสะอาด อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ พากันนำสวิง และถังน้ำลงไปยังแหล่งน้ำเพื่อตัก "เทา" นำมาทำ "ลาบเทา" รับประทาน และขายในในชุมชน ซึ่งชาวบ้านบอกว่า "เทา" คือสาหร่ายน้ำจืดสีเขียว มีลักษณะเป็นเส้นเล็กยาวคล้ายผม สีเขียวสด มักอยู่ในหนองน้ำหรือแหล่งน้ำที่ใสสะอาดและน้ำนิ่ง ในระดับน้ำไม่ลึก สามารถมองเห็นด้วยสายตาเกาะกลุ่มกันเป็นก้อนๆ โดย "เทา" ที่ยังอ่อนจะลอยอยู่ใต้น้ำ เหมาะนำไปปรุงเป็นอาหารรับประทาน สำหรับเทาแก่หมดอายุแล้วจะลอยตัวขึ้นเหนือน้ำ ไม่สามารถนำมาปรุงอาหารได้ ชาวบ้านจะใช้มือสาวเทาสีเขียวที่อยู่ใต้น้ำแล้วนำมาล้างเก็บเศษไม้ ใบหญ้า หรือสิ่งเจือปนในเทาออกให้หมดจนสะอาดเห็นเป็นเส้นเทาสีเขียวสด จากนั้นจึงนำมาประกอบปรุงเป็นอาหารมื้อพิเศษรับประทานในครอบครัว อีกทั้งชาวบ้านคนอีสานนิยม "ลาบเทา" กินร่วมกันในหมู่เครือญาติหรือเพื่อนบ้าน
น.ส.บัวเรียม จำปา อายุ 43 ปี ชาวบ้านภูเขาทอง เผยว่า ตนและเพื่อนบ้านจะใช้เวลาว่างหลังเลิกงานออกหาเทาไปขายโดยทำเป็นถุงถุงละ 20 บาท ส่วนหนึ่งก็จะทำเป็นเมนูลาบเทาขาย โดยตักเป็นถุง ๆละ10-20 บาท ขายให้เพื่อนบ้าน สำหรับเมนู "ลาบเทา" เครื่องปรุงที่สำคัญต้องมี หัวหอม ผักชี ต้นหอม น้ำปลาร้า มะเขือ ปลาทู หรือปลานิล ข้าวคั่ว พริกป่น แต่ทั้งนี้ต้องไม่ใส่มะนาว หรือสิ่งที่เป็นของเปรี้ยวทั้งสิ้น เพราะจะทำให้รสชาติไม่อร่อย และประการสำคัญ เทาสีเขียวต้องไม่ต้มหรือทำให้สุกแต่อย่างใดแพราะจะทำให้เทามีรสชาติที่เปลี่ยนไปเช่นมีรสฟาดไม่อร่อย
วิธีทำ "ลาบเทา" ล้าว "เทา"ใหสะอาด ต้มน้ำปลาร้าให้สุก หั่นมะเขือเป็นชิ้นเล็ก ๆ ถั่วผักยาวหั่น ปลาทู หรือปลานิล แกะเอาแต่เนื้อ พริกป่น นำมาคลุกเข้าด้วยกัน จากนั้นนำน้ำพริกที่ได้มาคลุกกับน้ำปลาร้าสุก นำไปคลุกกับน้ำพริกปลาทูมะเขือที่เตรียมไว้ ก่อนนำเทาสดลงไปคลุกหรือคนให้เข้ากัน จากนั้นใส่ ต้นหอม ถั่วฝักยาวหั่นโรยด้วยข้าวคั่ว พริกป่น ปรุงรส ชาติให้ได้ตามต้องการ เป็นอันเสร็จสิ้น โดยบางคนสามารถขายสร้างรายได้เข้าครอบครัว วันละ 200 บาท
สำหรับ "เทา" เป็นสาหร่ายน้ำจืด พบมากในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตก ในแหล่งน้ำนิ่ง สะอาด ใส ส่วนมากนำมากินเป็นผักสด ผักลวกกับน้ำพริก หรือมาลาบ ยำ แกงส้ม มีแคลเซียมและเบตา-แคโรทีนสูง จากการศึกษาของกลุ่มนักวิจัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ พบว่า เทา 10 กรัมจะมีโปรตีนค่อนข้างสูงถึง 20% มีคาร์โบไฮเดรตประมาณ 31 % ให้เส้นใยสูงถึง 21% และยังมีวิตามินบีโดยเฉพาะ บี 2 ถึง 355 ไมโครกรัมต่อ 100 กรัม นอกจากนั้นมีกรดโฟลิก และกรดแพนโทธีนิก ซึ่งเป็นกลุ่มวิตามินที่สำคัญอยู่ในปริมาณที่เหมาะสมอีกด้วย