นายกฯ กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ครั้งที่ 25 ชู 4 ประการ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนในภูมิภาค
เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 11 พ.ย.65)ที่ กรุงพนมเปญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ครั้งที่ 25 โดยเป็นการประชุมแบบเต็มคณะ (plenary) โดยมีสมเด็จอัคคมหาเสนาบดีเดโชฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาเป็นประธานการประชุม มีผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน 9 ประเทศ (เมียนมาไม่เข้าร่วม) นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน และเลขาธิการอาเซียน เข้าร่วมการประชุม ซึ่งในการประชุมครั้งนี้วัตถุประสงค์เพื่อทบทวนความร่วมมือระหว่างกัน กำหนดทิศทางความสัมพันธ์อาเซียน-จีน และเพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นระหว่างกระเทศร่วมกัน ในโอกาสนี้ นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญของถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรี ดังนี้
นายกรัฐมนตรีต้อนรับท่านนายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง ยินดีต่อความสำเร็จในการจัดการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ครั้งที่ 20 และขอชื่นชมในผลงานของคณะกรรมการกลางของพรรคฯ สมัยที่ 19 นำจีนสู่การเป็น “ประเทศมหาอำนาจที่มีความรับผิดชอบ” เชื่อว่าบทบาทที่สร้างสรรค์และแข็งขันของจีนท่ามกลางความท้าทายใหม่ ๆ ได้ช่วยขับเคลื่อนความสัมพันธ์อาเซียน-จีนให้มีพลวัตและครอบคลุม โดยเฉพาะเป็นปีแรกของ “ความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์แบบรอบด้าน” ความเป็นหุ้นส่วนของเราจะเติบโตบนพื้นฐานของหลักการเรื่องความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ความเคารพซึ่งกันและกัน และผลประโยชน์ร่วมกัน
นายกรัฐมนตรีได้นำเสนอแนวทาง 4 ประการเพื่อส่งเสริมการพัฒนาของภูมิภาคที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ดังนี้
1.ไทยสนับสนุนการเสริมสร้างหุ้นส่วนที่เข้มแข็งในด้านต่าง ๆ ได้แก่ สันติภาพความมั่นคง ความเจริญรุ่งเรือง การพัฒนาที่ยั่งยืน และมิตรภาพ สอดคล้องกับข้อเสนอ 5 ประการของประธานาธิบดีจีน ยึดมั่นต่อพหุภาคีนิยม ภูมิภาคนิยม ความเป็นแกนกลางของอาเซียน และสถาปัตยกรรมภูมิภาคที่มีอาเซียนเป็นแกนกลาง เพื่อก้าวเดินไปสู่ “อนาคตร่วมกัน” ไทยมุ่งหวังที่จะให้การสอดประสานความร่วมมือระหว่าง AOIP กับข้อริเริ่ม BRI ของจีน นำมาซึ่งผลประโยชน์ร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม
2. มุ่งเน้นแนวทางการพัฒนาที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน มุ่งลดช่องว่างด้านการพัฒนา โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งแนวทางดังกล่าวสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ข้อริเริ่มการพัฒนาแห่งโลก หรือ Global Development Initiative GDI ของจีน ยึดหลักการของการมีส่วนร่วม การพัฒนาร่วมกัน และการเสริมสร้างหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา ไทยชื่นชมความมุ่งมั่นของจีนในการส่งเสริมความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมภายใต้ GDI รวมถึงการจัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนาแห่งโลกและความร่วมมือใต้-ใต้
3. แสวงหาแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจที่สร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน ไทยมีนโยบายพลิกโฉมประเทศและปรับโครงสร้างไปสู่ “เศรษฐกิจใหม่” ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ ในฐานะที่อาเซียนและจีนเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของกันและกัน ไทยสนับสนุนการยกระดับความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน ซึ่งรวมถึงเศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และเศรษฐกิจสีเขียว ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพของ MSMEs และ start-ups ไทยส่งเสริมการลงทุนในเทคโนโลยีล้ำสมัยและอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ควบคู่กับการเสริมสร้างความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์บนพื้นฐานของหลักการร่วมกัน
4. เสถียรภาพและสันติภาพที่ยั่งยืน เป็นเงื่อนไขพื้นฐานสำหรับสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการฟื้นตัวและการพัฒนาร่วมกัน ยินดีต่อวาระครบรอบ 20 ปีของ ปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ (Declaration on the Conduct of Parties in the South China Sea : DOC) ตลอดจนยินดีที่การเจรจาจัดทำระเบียบปฏิบัติ (Code of Conduct : COC) มีความคืบหน้า และพร้อมที่จะร่วมมืออย่างเต็มที่เพื่อให้การจัดทำ COC ที่มีประสิทธิภาพ มีเนื้อหาครอบคลุม และสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ แล้วเสร็จในโอกาสแรกที่สุด เพื่อให้ทะเลจีนใต้เป็นทะเลแห่งสันติภาพ เสถียรภาพ และการพัฒนาที่ยั่งยืน