แจงถังบาดาล 5 แสนปลอดภัยได้มาตรฐาน (มีคลิป)

2022-11-10 15:35:06

แจงถังบาดาล 5 แสนปลอดภัยได้มาตรฐาน (มีคลิป)

Advertisement

ทสจ.กาฬสินธุ์สั่งผู้รับผิดชอบโครงการแจงถังบาดาล 5 แสน ระบุวิศวกรยันปลอดภัย ได้มาตรฐาน มีวิศวกรควบคุมงาน ดำเนินการถูกต้อง

จากกรณีชาวบ้านใน จ.กาฬสินธุ์ ตั้งข้อสังเกตถังเหล็กบรรจุน้ำบ่อบาดาลพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ "โซลาร์เซลล์" โครงการสนับสนุนน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแก้ปัญหาภัยแล้ง ที่นำแผ่นเหล็กมาล้อมต่อเรียงกันขึ้นไปตั้งไว้บนพื้นดิน และใช้พลาสติกรองรับน้ำด้านใน ทำให้ชาวบ้านสงสัยว่าถังจะรับน้ำหนักไหวหรือไม่ เสี่ยงทำให้เกิดอันตรายหรือไม่ คุ้มค่ากับเงินงบประมาณ 5 แสนบาทหรือไม่ จึงอยากให้หน่วยงานทั้ง สตจ.กาฬสินธุ์ และ ป.ป.ช.กาฬสินธุ์ เข้ามาตรวจสอบ โดยก่อนหน้านั้น มีรายงานแจ้งว่า เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.กาฬสินธุ์ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบมีการให้ข่าวว่าการก่อสร้างเป็นไปตามแบบแปลนนั้น


เมื่อวันที่ 10  พ.ย.65 ที่สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดกาฬสินธุ์ (ทสจ.) ทีมข่าวได้เข้าพบนายยศวัฒน์ เธียรสวัสดิ์ ผอ.สำนักงาน ทสจ.กาฬสินธุ์ โดย ผอ.ทสจ.ได้เรียก นายประดิษฐ์ สุดชาดา หัวหน้ากลุ่มงานส่วนสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้รับผิดชอบโครงการนี้มาชี้แจงแทน เนื่องจาก นายยศวัฒน์  แจ้งว่า พึ่งเดินทางมารับตำแหน่ง ทสจ.กาฬสินธุ์ แทนคนเดิมที่ย้ายไปจังหวัดอื่น

นายประดิษฐ์ กล่าวว่า ตนรับผิดชอบจำนวน 12 บ่อ จากจำนวน 19 บ่อ ในโครงการสนับสนุนน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแก้ปัญหาภัยแล้ง ของสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดกาฬสินธุ์ ที่ผ่านมาเมื่อมีการร้องขอให้ตรวจสอบในเรื่องคุณภาพของโครงสร้างและถังน้ำในลักษณะนี้ หลักการที่ตนได้ดำเนินการนั้นได้อธิบายว่า การประกอบกิจการอุตสาหกรรมต้องขออนุญาต สินค้าอุตสาหกรรมที่จะส่งไปให้ผู้อุปโภค บริโภค ต้องปลอดภัย ได้มาตรฐาน ซึ่งผู้ประกอบการรายนี้ได้รับรองมาตรฐานโรงงานผลิตในระดับ ISO จึงเห็นว่าในเรื่องของมาตรฐาน มอก.จึงเป็นมาตรฐานที่บังคับอยู่แล้ว  การก่อสร้างถังน้ำบาดาลในลักษณะนี้เป็นการเทียบเคียงจากถังเหล็กยกสูงของกองทุนพลังงาน เป็นหอถังสูง โดยหลักการแบบเป็นลิขสิทธิ์ของผู้ออกแบบ แต่โดยความเป็นราชการ ราชการมีหน้าที่บริการสาธารณะ เรื่องนี้เป็นการทำเพื่อประโยชน์ประชาชน ซึ่งไม่คุ้นตากับเกษตรกร อาจจะมีความกังวล แต่ขอให้สบายใจได้ การออกแบบ วัสดุที่นำมาดำเนินการ ได้มาตรฐาน การก่อสร้างเป็นไปตามรูปแบบรายการ มีวิศวกรควบคุมงาน ดำเนินการตามรูปแบบมาตรฐาน ยืนยันดำเนินการถูกต้อง


ด้าน นายยศวัฒน์ เธียรสวัสดิ์ ผอ.สำนักงาน ทสจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ตนเพิ่งย้ายมารับตำแหน่งใหม่ ซึ่งโครงการดังกล่าวได้ดำเนินการไปแล้ว อย่างไรก็ตามจากการสอบถามเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ทราบว่า มีการลงพื้นที่ตรวจสอบที่ถังบ่อบาดาล ใน ต.แซงบาดาล อ.สมเด็จ จ.กาฬสินธุ์ จำนวน 1 จุด และมีการรายงานไปยังผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น ทั้งนี้ ได้มีการหารือกับผู้รับจ้าง ให้มีแก้ไขโดยติดสายล่อฟ้าเพื่อลดความเสี่ยงตามที่ชาวบ้านร้องขอมา ขณะที่ในส่วนของการเพิ่มความสูงของเหล็กค้ำยันนั้น ทางผู้รับจ้างและวิศวกรยืนยันถึงความปลอดภัย จึงไม่ได้แก้ไขให้ ซึ่งเท่าที่ทราบโครงการดังกล่าวมีทั้งหมด 19 จุด มีการลงพื้นที่ตรวจสอบเพียง 1 จุด แก้ไขโดยติดตั้งสายล่อฟ้า 12 จุด ส่วนที่เหลืออีก 7 จุด ยังไม่มีรายงานเข้ามา ซึ่งตนจะลงพื้นที่ตรวจสอบด้วยตัวเอง ในกรณี ถังน้ำไม่ได้มาตรฐานอุตสาหกรรม หรือ มอก.นั้น เรื่องนี้คงต้องไปดูให้เห็นกับตา เพราะ ถังน้ำในลักษณะนี้ก็ไม่เคยเห็น ซึ่งก็คงต้องตรวจสอบให้ชัดแจ้งเพื่อป้องกันปัญหาการทุจริตในโครงการนี้

สำหรับถังเหล็กบรรจุน้ำบ่อบาดาลพลังงานแสงอาทิตย์จัดซื้อจัดจ้างโครงการละไม่เกิน 500,000 บาท 19  จุด รวมงบประมาณเกือบ 10 ล้านบาท เป็นถังกักเก็บน้ำเหล็กขนาดกว่า 2 หมื่นลิตร ไม่มี มอก. ตั้งราคากลางไว้ถังละกว่า 120,000 บาท