สนช.ถกร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ส่วนใหญ่เห็นด้วยขยายเวลาบังคับใช้ 90 วันหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้ประชาชน พรรคการเมืองศึกษาทำความเข้าใจกฎหมายล่วงหน้า ผู้เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งจะได้ปฏิบัติหน้าที่ไม่พลาด
เมื่อวันที่ 25 ม.ค. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยมีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.)ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ในวาระ 2 และ 3 จำนวน 178 มาตรา โดยมาตรา 2 คือ การให้ร่างกฎหมายมีผลบังคับใช้ภายหลัง 90 วันนับจากการประกาศในราชกิจจานุเบกษา นายวิทยา ผิวผ่อง ประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ได้ชี้แจงว่า เพื่อให้ประชาชนและพรรคการเมืองได้ศึกษาและทำความเข้าใจกฎหมายล่วงหน้า ขณะที่ผู้เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง 1.5 ล้านคนจะได้ปฏิบัติหน้าที่ได้โดยไม่ผิดพลาด
ด้าน นายประพันธ์ นัยโกวิท กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างน้อย กล่าวว่า การที่กรธ.เสนอว่าต้องดำเนินการเลือกตั้งใน 150 วันนับแต่ร่างกฎหมายดังกล่าวประกาศใช้ถือว่าระยะเวลาดังกล่าวมีความยืดหยุ่นเหมาะสมแล้ว นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้ขยายเวลายาวกว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 ที่กำหนดไว้เพียง 90 วันเท่านั้น จึงไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องขยายเวลาอีก 90 วัน
นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน กรรมาธิการเสียงข้างน้อยที่สงวนคำแปรญัตติขอขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายเป็น 120 วัน กล่าวว่า การขยายเวลาบังคับใช้ 90 วันนั้นไม่เพียงพอ อาจทำให้เกิดปัญหากับพรรคการเมือง เมื่อถึงเวลาเลือกตั้งอาจจะเกิดปัญหาได้ จึงควรขยายเวลาเป็น 120 วัน
นายสมชาย แสวงการ สมาชิก สนช. อภิปรายว่า การขยายเวลาออกไป 90 วันนั้นน้อยเกินไป ความจริงแล้วตนอยากได้ 180 วันด้วยซ้ำ แต่เมื่อเสียงส่วนใหญ่เห็นว่าควรขยายเวลาออกไป 90 วันตนก็เคารพและสนับสนุน ส่วนที่พรรคการเมืองออกมาคัดค้านนั้น ขอให้กล้าเอาความจริงมาพูดด้วย ไม่ต้องการระบบไพรมารี่โหวตใช่หรือไม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาชิก สนช.ส่วนใหญ่อภิปรายสนับสนุนขยายเวลาการบังคับใช้ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 90 วันหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา ถือว่ามีความเหมาะสมแล้ว
จากนั้นประชุมได้พิจารณามาตรา 35 ว่าด้วยการจำกัดสิทธิ์สำหรับผู้มีสิทธิ์็เลือกตั้งแต่ไม่ไปใช้สิทธิ์และไม่ได้แจ้งเหตุแห่งการไม่ไปใช้สิทธิ์ ซึ่งห้ามมิให้เข้ารับราชการรัฐสภา ทั้งในส่วนลูกจ้าง พนักงานราชการ และข้าราชการ รวมถึงห้ามเข้ารับตำแหน่งข้าราชการด้านการเมือง หรือตำแหน่งต่าง ๆที่เกี่ยวกับองค์กรส่วนท้องถิ่น เป็นเวลา 2 ปี โดยสมาชิก สนช.บางส่วนไม่เห็นด้วยในหลักการนี้ เนื่องจากเป็นการตัดสิทธิ์กลุ่มคนบางส่วนเท่านั้น และอาจสุ่มเสี่ยงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ในประเด็นการจำกัดอาชีพบุคคล และการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลอย่างไม่เป็นธรรม